สวัสดีจ้า “Campus Life” มีกิจกรรมดีๆ ของหนุ่ม – สาว ในรั้วมหาวิทยาลัยมาฝากกันอีกแล้วจ้า โดยสัปดาห์นี้เป็นกิจกรรมของ ชมรมจิตอาสา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ที่จัดอบรมคัดแยกขยะ สร้างจิตสำนึกนักศึกษา “แยกให้ถูก ทิ้งให้เป็น” เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอย และก้าวสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว”

“เขมจิรา จิรโรจนาเขต” ประธานชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา บอกว่า ปัจจุบันข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของไทยปี 2565 มีปริมาณ 25.70 ล้านตัน ซึ่งพบว่าขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องและขยะมูลฝอยตกค้าง มีปริมาณรวมกันถึง 17.03 ล้านตัน ทุกภาคส่วนจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรีไซเคิล แคมเปญลดขยะ และการพัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างยั่งยืน รวมถึงมองหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทางเลือกที่หลายคนนึกถึงก็คือ กระบวนการ “Waste..to Energy” การใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อลดปัญหาขยะล้นเมือง

ประธานชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา บอกอีกว่า ดังนั้นกิจกรรมครั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาชมรมจิตอาสา ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจำแนกและแยกประเภทของขยะ เพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอยภายในมหาวิทยาลัย และการเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของ มรภ.สงขลา เพราะจากสถานการณ์ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างจิตสำนึกรณรงค์การทิ้งขยะ การคัดแยกขยะ การนำขยะรีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยจัดการขยะและลดปริมาณขยะ โดยปัญหาขยะใน จ.สงขลา ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนั้น เกิดจากการทิ้งขยะ การอุปโภคบริโภค รวมถึงกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ตลาด ร้านค้า โรงงาน ไม่มีระบบในการจัดเก็บขยะ แบบคัดแยกขยะ ไม่มีนวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน ตลาด และสถานศึกษา ซึ่ง มรภ.สงขลา เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยะดังกล่าวมาจากสำนักงาน คณะ โรงอาหาร ร้านค้า ร้านอาหารประจำตึก คณะในมหาวิทยาลัย ที่มีการใช้ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอด ให้กับลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ หรือแม้กระทั่งมีเศษอาหารจำนวนมาก ซึ่งไม่มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท และนำขยะไปกำจัดให้ถูกวิธี หรือนำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ ชมรมจิตอาสา มรภ.สงขลา ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัย สร้างจิตสำนึกในการทิ้งขยะ แยกประเภทของขยะ เพื่อลดปัญหาขยะภายในมหาวิทยาลัย เพื่อการก้าวสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยสีเขียว” ต่อไปในอนาคต