“บุฟเฟต์คาบิเนต” คอร์รัปชัน-รับประทานไม่อั้น! เป็น 1 ในข้ออ้างการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนก.พ.34 ของคณะนายทหารภายใต้การนำของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. กับพวก

หลังจากนั้นก็ขึงขังประกาศอายัดทรัพย์สินนักการเมืองที่เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ 25 คน แต่สุดท้ายรอดคดีกันหมด เนื่องจากยอมเป็น “นั่งร้าน” ให้คณะรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 35 จนนำไปสู่เหตุนองเลือด “พฤษภาทมิฬ”

เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมือง ที่มี พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พ.ค. 35 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 44 คน บาดเจ็บ 1,728 คน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แม้คณะผู้ก่อการรัฐประหารจะกระเด็นตกจากเก้าอี้ หลังเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” แต่พวกเขาก็ไม่ถูกดำเนินคดีฐานก่อการรัฐประหาร จากผลของการ “นิรโทษกรรม” ให้ตัวเองกับพวก และไม่ได้ถูกดำเนินคดีฐานเอากำลังทหารนับหมื่นคนเข้ามาล้อมปราบประชาชน จนมีผู้เสียชีวิต 44 คน บาดเจ็บ 1,728 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังค้างคาใจสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้

วันที่ 19 .. 49 มีการทำรัฐประหารล้มล้างอำนาจของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และเครือข่าย ภายใต้การนำของพล.. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. หลังจากนั้นคดีความต่าง ๆ ก็พรั่งพรูมาสู่นายทักษิณ

ทั้งนักกฎหมาย และประชาชนไทยที่สนใจเรื่องการบ้านการเมือง ต่างมองว่าเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ!กับนายทักษิณด้วยระบบ “ตุลาการภิวัฒน์”

ขณะที่ผู้นำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ก็เจริญรอยตามรุ่นพี่ที่ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดีใด ๆ เพราะได้ออกกฎหมาย “นิรโทษกรรม” ให้ตัวเองกับพวก เรียกว่าเป็นการตัดตอนไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ผลของการรัฐประหาร 19 ..49 ยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดความแตกแยกกันครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังบานปลายไปสู่เหตุการณ์สำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย และสร้างความอับอายไปทั่วโลก นั่นคือการมีม็อบไปปิดสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ทำให้เครื่องบินไม่สามารถขึ้นลงได้ ทั้งผู้โดยสารและสินค้าต้องตกค้างจำนวนมาก

รวมทั้งมีม็อบไปปิดล้อม-ขัดขวางการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนก.พ.57 เรียกว่ากระทำการจนสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายของแกนนำม็อบ ส่งผลให้การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศครั้งนั้นกลายเป็น “โมฆะ” บ้านเมืองวุ่นวายหาทางลงไม่ได้ จนนำไปสู่การทำรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57

กลุ่มคนที่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ก็เดินตามรอยนายพลรุ่นพี่ๆ คือทำรัฐประหารแล้วนิรโทษกรรมให้ตัวเองกับพวก เพื่อตัดตอนไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในภายหลัง

ไม่ต้องถึงขั้นทำ “โพล” สำรวจความคิดเห็นคนไทยทั่วประเทศ ว่าสมควรให้คณะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 57 ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่?

แค่ไปถามพี่น้องชาวประมง 22 จังหวัดติดชายทะเล ลองไปถามความเห็นจากนายกสมาคมประมงต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากหลังรัฐประหารปี 57 จากปัญหากฎหมายการทำประมงที่เข้มงวดมากขึ้น ตามกฎของ IUU ที่สหภาพยุโรปใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อบีบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จนพี่น้องชาวประมงต้องสิ้นเนื้อประดาตัวไปตาม ๆ กัน เชื่อว่าพี่น้องชาวประมงเกิน 90% ต้องบอกว่าไม่สมควรให้คนทำรัฐประหารได้รับการนิรโทษกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยติดหล่มอยู่กับม็อบมีเส้น ม็อบไม่มีเส้น ติดหล่มไปกับกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ทำไม? คนทำรัฐประหารปี 34, 49, 57 ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติบ้าง?

รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องกับการสลายม็อบนปช. 99 ศพ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ทำไมคดียังไปไม่ถึงศาล? หรือแม้แต่คดีที่ไปถึงศาลแล้ว เช่น ปิดสนามบิน-ปิดการเลือกตั้ง ยังต้องตามลุ้น! ว่าพวกเขาจะได้รับโทษจำคุกเหมือนนายทักษิณบ้างมั้ยหนอ!!.

………………………………………
พยัคฆ์น้อย.