ได้ช่วยกันนำงูจงอางยักษ์ หรือ “งูบองหลา” ขนาดยาวกว่า 4 เมตรที่ถูกสุนัขกัดจนท้องแตก อวัยวะภายในทะลักออกมาด้านนอก ส่งโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ทำการผ่าตัดช่วยชีวิตจนกลายเป็นที่สนใจและเป็นข่าวอย่างกว้างขวางเพราะไม่เคยพบเห็นการรักษางูจงอาง หรือ “บองหลา” ขนาดยักษ์ในลักษณะนี้มาก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าจากการเดินทางไปสัมภาษณ์สัตวแพทย์หญิง ปิยาภรณ์ วัฒนาพันธุ์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์สิชล ผู้ทำการผ่าตัดและเย็บแผลรักษางูจงอางหรือ “บองหลา” ยักษ์ ตัวดังกล่าว โดยแพทย์หญิงปิยาภรณ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ว่าในวันดังกล่าวได้รับโทรศัพท์จากน้องผู้หญิงคนหนึ่งว่าทางโรงพยาบาลรับรักษางูจงอางไหม เพราะงูจงอางโดนสุนัขกัดมาจนมีแผลฉกรรจ์ ตอนแรกหมอก็งงว่างูจงอางมันมาได้อย่างไร จึงสอบถามว่ามีคนมาช่วยจับงูให้หมอไหม หากมีคนมาช่วยจับงูตอนที่หมอทำการรักษาหมอก็พร้อมที่จะช่วยเย็บแผลให้ น้องผู้หญิงแจ้งว่ามีทีมของทหารจะมาช่วยจับงูจงอางให้ หมอจึงบอกให้เขาพางูจงอางตัวดังกล่าวมาที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นทหารก็เดินทางมาด้วยรถกระบะและช่วยกันอุ้มงูจงอางยักษ์เข้ามาและหมอพาเข้าไปในห้องผ่าตัด ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าแผลของน้องงูจงอางจะอยู่บริเวณหลังรูทวาร แผลกว้างและมีอวัยวะเหมือนลำไส้ทะลักออกมา แต่ค่อนข้างจะเน่าและเหม็นแล้ว สอบถามทหารบอกว่าเป็นแผลมาประมาณ 3-4 วันแล้ว จึงทราบว่าเมื่อ 3-4 วันก่อนกู้ภัยฯ ไต้เต็กตึ๊งแจ้งให้ทหารไปช่วยจับงูจงอางตัวดังกล่าวมาที่ค่ายทหาร และพบว่ามีแผลฉกรรจ์ ตอนแรกทหารคิดว่าจะช่วยกันเย็บแผลให้งูจงอางกันเอง แต่ทำไม่ได้และแผลเริ่มเน่าติดเชื้อ จึงติดต่อมาปรึกษาหมอว่าหมอทำได้ไหม

“จริง ๆ หมอไม่ได้เป็นหมอเฉพาะทางด้านการรักษางู หมอจึงโทรฯไปสอบถามเพื่อนที่เชี่ยวชาญด้านงูว่าส่วนอวัยวะที่คิดว่าเป็นลำไส้ที่ทะลักออกมาด้านนอกมันเป็นอะไร เพื่อนหมอบอกว่าไม่ใช่ลำไส้ แต่เป็นส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ของงูจงอาง หมอจึงทำการตรวจเช็กดูว่างูจงอางตัวดังกล่าวเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย ปรากฏว่าเป็นเพศผู้ ส่วนที่ทะลักออกมาไม่ใช่ลำไส้แต่เป็นส่วนระบบสืบพันธุ์เพศผู้ของงูจงอาง คล้าย ๆ ถุงอัณฑะของงูที่ไหลทะลักออกมา และเมื่อพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากเป็นแผลโดนสุนัขกัดซ้ำมาก ๆ และผ่านมาหลายวันเริ่มจะเน่าแล้วรวมทั้งส่วนหางของงูจงอางด้วย โดยมี 2 แนวทางที่ต้องตัดสินใจ คือเราจะตัดหางงูจงอางทิ้งไปเลยไหม และจะเก็บเอาส่วนหางไว้ไปก่อน ในที่สุดก็ตัดสินใจมาตัดอวัยวะสืบพันธุ์ที่เน่าบางส่วนทิ้งและยัดกลับเข้าไปก่อนเย็บแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อเพื่อสังเกตว่าในส่วนหางที่ช้ำจะเน่าไหม หลังจากเย็บแผลและรอดูอาการ 3 วันก็พบว่าแผลที่เย็บก็ดีขึ้น แต่รอยช้ำที่หางมันช้ำเยอะก็ต้องรอดูว่ามันจะอักเสบมากไหม โดยทหารได้รับงูจงอางกลับไป โดยหมอได้จัดยาฉีดเป็นยาฆ่าเชื้อและรักษาอาการอักเสบให้ทหารไปฉีดเอง โดยต้องฉีดยาต่อเนื่อง 7-10 วันและจะตัดไหมในระหว่าง 14-18 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมหมอจึงตัดสินใจรับรักษางูจงอางยักษ์ตัวดังกล่าวและมีความรู้สึกอย่างไร สัตวแพทย์หญิงปิยาภรณ์ ตอบว่าหมอรับรักษาทุกเคส แม้จะไม่ได้เป็นหมอเฉพาะทางด้านการรักษางู โดยสัตว์ส่วนใหญ่ที่มาหาหมอบ่อยนอกจากน้องหมาน้องแมวก็มีพวกลิง กระต่าย และพวกสัตว์แปลก ๆ อื่น ๆ ซึ่งคงไม่มีหมอคนไหนในละแวกนี้ที่จะรับรักษางูจงอางอยู่แล้ว แต่หมอมีเพื่อนที่เขาเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ จึงปรึกษาและช่วยหมอในส่วนนี้หมอก็คิดว่าหมอช่วยเท่าที่จะช่วยได้ และหมอก็ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายในการรักษางูจงอางตัวนี้จากพี่ ๆ ทหาร พี่ทหารเขาถามว่าจะคิดค่าใช้จ่ายยังไง เท่าไหร่ เพราะเขาจะได้ระดมทุนกันเอง เมื่อทราบเช่นนั้นหมอได้บอกว่าไม่เป็นไรพี่ ๆ ทหารก็เสี่ยงในการจับและดูแลงูจงอางมาแล้ว ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดรักษาทางโรงพยาบาลจะช่วยก็แล้วกัน เพราะงูจงอางเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองด้วย หมอก็ช่วยในส่วนนั้น หมออยากช่วยและทำบุญไปด้วย.