กระนั้น การเผชิญหน้าระหว่างแพทย์ฝึกหัด กับรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมถอยจาก “การปฏิรูปที่จำเป็น” ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากประสบความยากลำบาก และการรักษาที่สำคัญต่างถูกยกเลิก

สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด ต่อระบบการฝึกอบรมทางการแพทย์ของเกาหลีใต้ในรอบหลายปี รัฐบาลโซลประกาศว่า จะเพิ่มโควตารับนักศึกษาแพทย์อีก 65% หรือประมาณ 2,000 คนต่อปี ตั้งแต่ปี 2568 โดยให้เหตุผลว่า การปฏิรูปดังกล่าวมีความจำเป็นในการเตรียมการดูแลประชากรสูงวัย และเพิ่มบุคลากรแพทย์ให้เพียง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในปัจจุบัน

อนึ่ง ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่า เกาหลีใต้มีแพทย์เพียง 2.6 คน ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 3.7 คน ในกลุ่มประเทศสมาชิกโออีซีดีทั้ง 38 ประเทศ ทว่าการขาดแคลนข้างต้น กลับส่งผลให้แพทย์เกาหลีใต้ได้รับค่าตอบแทนดีที่สุดในโออีซีดี และมีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของชาวเกาหลีใต้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ แพทย์เกาหลีใต้ยังได้รับการยกย่องทางสังคมอย่างสูง เนื่องจากคนที่ต้องการเข้าศึกษาโรงเรียนแพทย์ จำเป็นต้องมีคะแนนที่ดีเยี่ยม ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สำคัญทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม บรรดาแพทย์กล่าวว่า แผนการปฏิรูปของรัฐบาล เพิกเฉยต่อปัญหาที่แท้จริงของอาชีพนี้ นั่นคือ การขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในบางสาขาที่สำคัญ เช่น กุมารเวชศาสตร์ และอายุรศาสตร์โรคหัวใจ อันเกิดจากส่งจูงใจทางการเงินที่ไม่เหมาะสม จากการประกันสุขภาพแห่งชาติ และความเสี่ยงของการฟ้องร้องทางการแพทย์

FRANCE 24 English

“การเพิ่มจำนวนแพทย์โดยรวมจะไม่ช่วยอะไร เว้นแต่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น ค่ารักษาพยาบาลต่ำ และการฟ้องร้องเล็ก ๆ น้อย ๆ และรัฐบาลควรกำหนดมาตรการเพื่อ ‘ลดภาระทางกฎหมาย’ ในกรณีที่เกิด ‘อุบัติเหตุทางการแพทย์ที่ไม่สามารถควบคุมได้’ ” สมาคมแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านเกาหลีใต้ ระบุในแถลงการณ์

แต่นายคิม แจ-ฮอน เลขาธิการขององค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) ที่สนับสนุนการรักษาพยาบาลฟรี กล่าวว่า ตำแหน่งของแพทย์ไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งการคัดค้านการเพิ่มโควตารับนักศึกษาแพทย์ เพื่อรับประกันผลกำไรที่มากขึ้น โดยลดการแข่งขัน เมื่อพวกเขากำหนดแนวทางปฏิบัติของตนเองในอนาคต ก็ไม่น่าจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนเช่นกัน

ผู้ป่วยจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ และโกรธเคืองรัฐบาลเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางคนก็ไม่พอใจแพทย์และโรงพยาบาล จากการไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย และใช้คนไข้เป็นตัวประกัน ซึ่งเบื่อหน่ายกับระยะเวลารอคอยรับบริการที่ยาวนาวเต็มที

ภาครัฐให้เหตุผลว่า เกาหลีใต้กำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ภายในปี 2568 ซึ่งถ้าไม่มีการดำเนินการในตอนนี้ ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์จะสูงขึ้นอย่างมากในอนาคต นอกจากนั้น เกาหลีใต้อาจเผชิญกับการขาดแคลนแพทย์ประมาณ 15,000 คน ภายในปี 2578 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP