กระนั้น โลเปซ กลับกังวลว่า การขึ้นค่าจ้างยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดเพื่อนร่วมของเขา ซึ่งอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประมาณ 40,000 คน ที่ลาออกเมื่อปี 2565 – 2566 ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการ

โลเปซ กล่าวว่า แพทย์ในปัจจุบันต้องอดหลับอดนอนเพื่อหาเลี้ยงชีพ กระทั่งรัฐบาลคิวบา ได้ประกาศโบนัสจูงใจ เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา สำหรับงานกะกลางคืนและช่วงสุดสัปดาห์, วัยวุฒิ รวมถึงงานในบริการเฉพาะทาง หรือมีความเสี่ยง

อนึ่ง คิวบา กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และปัญหาการขาดแคลน นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับการคว่ำบาตรของสหรัฐที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ในปี 2564 และความอ่อนแอทางโครงสร้าง ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ผลักดันให้ชาวคิวบาประมาณ 5% อพยพออกจากประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปยังสหรัฐ

โรงพยาบาลกาลิกซ์โต การ์เซีย ในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา

ระบบการแพทย์อันโด่งดังก็ได้รับผลกระทบจากการอพยพเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคนเดินทางออกนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพยายามยับยั้งการอพยพ โดยมอบเงินโบนัสจูงใจให้แก่แพทย์, พยาบาล และช่างเทคนิค ประมาณ 400,000 คน

สำหรับโลเปซ ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาลคาลิกซ์โต การ์เซีย ในกรุงฮาวานา เงินเดือนของเขาเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากเดิม 6,500 เปโซคิวบา (ราว 9,700 บาท) เป็น 17,000 เปโซคิวบา (ราว 25,000 บาท) พร้อมโบนัส อย่างไรก็ตาม โลเปซกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้พวกเขากลับมา

แพทย์ของโรงพยาบาลกาลิกซ์โต การ์เซีย ในกรุงฮาวานาของคิวบา ซักถามอาการของผู้ป่วยที่แผนกโรคหัวใจ

ด้านนายลุยส์ เฟอร์นานโด นาวาร์โร รมช.สาธารณสุขคิวบา กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ แต่เขายอมรับว่า การเพิ่มเงินเดือนไม่ตอบสนองต่อค่าครองชีพในปัจจุบันของประเทศ และการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ เกิดขึ้นในสาขาเฉพาะทาง

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าของคิวบา มีแพทย์ 89 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งสูงมาก เมื่อเทียบกับฝรั่งเศส และสหรัฐ ซึ่งมี 33 คน และ 35 คน ตามลำดับ

ทั้งนี้ การส่งออกผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพที่มีทักษะ หรือที่เรียกว่า “การทูตเสื้อคลุมสีขาว” เป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศที่มีค่า และในบางปี เช่นปี 2561 ถือเป็นรายได้หลักของคิวบา โดยทำเงินได้มากถึงประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 214,000 ล้านบาท)

ทว่าในคิวบา บุคลากรแพทย์มักต้องซื้อเครื่องตรวจฟังของแพทย์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพราะนอกจากแพทย์แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจยังทำให้เกิดการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ และยารักษาโรคด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP