หอคอยที่จำลองมาจาก “ประตูชัยฝรั่งเศส” ซึ่งตั้งตระหง่านเหนือสาขาแม่น้ำโขง ขนาบข้างด้วยร้านค้าและอพาร์ตเมนต์ ที่สร้างขึ้นในสไตล์โอสมานน์ อันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงปารีส ในโครงการเอลิเซ่ ซึ่งตั้งชื่อตามถนนฌองเซลีเซ่ ในกรุงปารีส

ทั้งทางเดินที่ตกแต่งอย่างสวยงาม, คาเฟ่ และความสง่างามตามแบบฉบับของตัวเอง “มินิปารีส” แห่งนี้ ถูกนำเสนอในฐานะย่านเก๋ไก๋สำหรับคนรวย และเป็นที่กำบังจากความวุ่นวายและเสียงรบกวนที่ไม่หยุดหย่อน ของเมืองที่มีประชากรราว 2 ล้านคน

TV5MONDE Info

บริษัท โอเวอร์ซีส์ แคมโบเดียน อินเวสต์เมนต์ คอร์ปอเรชัน หรือ “โอซีไอซี” ซึ่งเป็นผู้พัฒนา และอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ลงทุนเงินจำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,000 ล้านบาท) ในโครงการเอลิเซ่ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้ โดยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยเป็นหนองน้ำบนเกาะ ด้วยการสร้างตึกระฟ้า, โรงเรียนนานาชาติ, โรงพยาบาล และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ

การดำเนินการดังกล่าวทำให้ “เกาะเพชร” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเอลิเซ่ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิดใหม่ของกรุงพนมเปญ หลังความขัดแย้งที่มีมานานหลายสิบปี ยุติลงเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1990

แม้กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ประเทศกลับเต็มไปด้วยการรับสินบน และการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ส่งผลให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในมือของชนชั้นนำขนาดเล็ก ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมเด็จฮุน เซน และพล.อ. ฮุน มาเนต บุตรชายของเขา ที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เมื่อปีที่แล้ว

อนึ่ง รัฐบาลพนมเปญ พยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ในราคาที่สามารถแข่งขันได้ เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งภายใต้การปกครองของสมเด็จฮุน เซน กัมพูชาพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่งให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเงินจากจีนได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างอย่างแพร่หลายในเมืองหลวง แต่ในขณะเดียวกัน มันก็นำกาสิโน และธุรกิจสีเทา เข้ามามากขึ้นด้วย

นายปิแอร์ บัลซาน กรรมการผู้จัดการของบริษัท บลูเบลล์ ในกัมพูชา แสดงแผนพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่บนเกาะเพชร

ไม่ไกลจากเกาะเพชร ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่มีร้านบูติกหรูหรามากถึง 75 ร้าน จะเปิดให้บริการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งนายปิแอร์ บัลซาน กรรมการผู้จัดการของบริษัท บลูเบลล์ ในกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาเป็นภูมิทัศน์ใหม่สำหรับแบรนด์หรู ทว่าความท้าทายหลัก คือ ความพยายามในการเปลี่ยนการรับรู้ของผู้จัดการแบรนด์ ที่มีต่อกัมพูชา และภาพลักษณ์ของกัมพูชา

แม้การส่งอำนาจให้กับ พล.อ.ฮุน มาเนต ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ และการที่เขาให้คำมั่น จะเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” ภายในปี 2593 ช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดได้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฮุน มาเนต ยังคงถูกมองว่า เป็นผู้นำในระบบทุจริตที่สืบทอดมาจากบิดา ซึ่งบดขยี้ผู้เห็นต่างทางการเมืองทุกคน และทำงานเพื่อสร้างความร่ำรวย ให้กับกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP