บุตรสาวของนายคิม ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2565 เมื่อเธอร่วมชมการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) กับบิดา ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวมานานแล้วว่า จู-แอ เปรียบเสมือน “เจ้าหญิงแห่งเกาหลีเหนือ”

แม้สื่อของรัฐบาลเปียงยาง ไม่เคยกล่าวถึงชื่อของเธอ แต่หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้ระบุว่า เธอคือ “คิม จู-แอ” บุตรสาว และบุตรคนที่สอง ของนายคิม กับนางรี ซอล-จู ส่วนบุตรคนโตเป็นชาย เกิดเมื่อปี 2553 ทว่ารัฐบาลโซล ออกมาชี้แจงเมื่อปีที่แล้ว “ไม่สามารถยืนยันได้” เกี่ยวกับสถานะบุตรชายของนายคิม

ด้านนางรี ซึ่งเป็นอดีตดารานักร้อง ปรากฏตัวครั้งแรกบนสื่อของเกาหลีเหนือ เมื่อปี 2555 และได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในสตรีซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในประเทศ โดยเธออยู่เคียงข้างนายคิมใน “ทริปภาคสนาม” หลายครั้ง และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับบรรดาผู้นำต่างประเทศ ซึ่งเธอมักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบรนด์หรู

ทั้งนี้ การปรากฏตัวของนางรี และการที่นายคิมมอบตำแหน่ง “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” อย่างเป็นทางการให้แก่เธอ เมื่อปี 2561 แสดงถึงความแตกต่างในเกาหลีเหนือ เนื่องจากภริยาของอดีตผู้นำเกาหลีเหนือ 2 คนก่อนหน้านี้ ได้แก่ บิดา และปู่ของนายคิม แทบไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณะ และรายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเธอ ต่างถูกเก็บเป็นความลับ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นางรี ยังคงติดตามสามีและบุตรสาวของเธอ แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายคิมเลือกที่จะพาจู-แอ มาเป็นคู่หูของเขาในงานสำคัญต่าง ๆ มากกว่าภริยาของเขาก็ตาม

ด้านนายอัน ชาน-อิล ชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ซึ่งผันตัวมาเป็นนักวิจัยดูแลสถาบันโลกเพื่อการศึกษาเกาหลีเหนือ กล่าวว่า การแสดงความเคารพต่อจู-แอ และการให้สัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อบุตรสาวของนายคิมนั้น ชี้ให้เห็นว่า เธอได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ในฐานะผู้นำเกาหลีเหนือคนต่อไป “เกือบจะแน่นอน”

“แม้เกาหลีเหนือไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนเคยบริหารประเทศมาก่อน แต่ในกรณีของจู-แอ ซึ่งมีทั้งสายเลือดเพ็กตูอันศักดิ์สิทธิ์ของตระกูลคิม และเจตจำนงของผู้นำคนปัจจุบัน หากนายคิมต้องการให้เธอเป็นผู้สืบทอด เจตจำนงนั้นจะมีน้ำหนักมากกว่าเพศของเธอ” นายวลาดิเมียร์ ทิโคนอฟ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกาหลี จากมหาวิทยาลัยออสโล กล่าว

กระนั้น ทิโคนอฟ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้จู-แอ กำลังเพลิดเพลินกับชีวิตที่หรูหราอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เธอกำลังถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางอุดมการณ์และการเมืองของผู้ใหญ่ รวมทั้งจำเป็นต้องทำเรื่องสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งเธอยังเด็กเกินไป ซึ่งคลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยสื่อของรัฐ เผยให้เห็นว่า ในบางครั้ง จู-แอ ดูเหนื่อย หรืออยู่ไม่สุขในงานราชการ

“สุดท้ายแล้ว เธอก็ยังเป็นแค่เด็ก ซึ่งบทบาทที่แสดงต่อสาธารณชน และบนเวทีระดับสูง ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมตามธรรมชาติ สำหรับเด็กส่วนใหญ่ในวัยเดียวกันกับเธอ” นางซู คิม อดีตนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) และที่ปรึกษาทางเทคนิคหลัก จากบริษัท แอลเอ็มไอ คอนซัลติง กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP