นอกเหนือจากการคุกคามของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ในภูมิภาคทรานส์นีสเตรีย ซึ่งร้องขอ “ความคุ้มครอง” จากรัฐบาลมอสโก เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลมอลโดวาที่สนับสนุนสหภาพยุโรป (อียู) ก็พยายามเข้าถึงชาวกาเกาเซีย ทางตอนใต้ของประเทศ ด้วยชั้นเรียนฟรีในภาษาโรมาเนีย ซึ่งเป็นภาษาราชการของประเทศ

ชนกลุ่มน้อยชาวเตอร์กิก ประกาศตัวเป็นเอกราชในช่วงเวลาสั้น ๆ ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งแม้ภาษาแม่ของพวกเขา มีความใกล้เคียงกับภาษาตุรกี แต่ในปัจจุบัน ชาวกาเกาเซีย 135,000 คน ส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียได้

เมื่อไม่นานมานี้ นางเอฟเกเนีย กูซูล ผู้ว่าราชการส่วนภูมิภาคกาเกาเซีย เดินทางเยือนรัสเซีย เพื่อขอ “การสนับสนุน” จากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย โดยให้เหตุผลว่า กาเกาเซียเผชิญกับ “การทำลายเสถียรภาพ” จากทางการมอลโดวา

ในการต่อสู้เพื่อจิตใจและความคิด รัฐบาลมอลโดวา เชื่อว่า การช่วยให้ผู้คนเรียนรู้ภาษาโรมาเนีย เป็นกุญแจสำคัญในการต่อต้าน “โฆษณาชวนเชื่อ” ในภาษารัสเซีย

“ชาวกาเกาเซียต้องการเรียนภาษา” สโตยาโนวา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมหลักสูตรฟรีประมาณ 13,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 6,500 เมื่อปีที่แล้ว ทั้งที่โควตาดังกล่าวรับเพียง 5,000 คนเท่านั้น อีกทั้งภูมิภาคกาเกาเซีย ยังมีผู้สมัครจำนวนมากเป็นอันดับสอง รองจากกรุงคีชีเนา เมืองหลวงของมอลโดวาด้วย

แม้กาเกาเซีย ต้องละทิ้งความหวังในการเป็นเอกราช เมื่อปี 2537 เพื่อแลกกับการเป็นเขตปกครองตนเอง แต่มรดกของสภาพโซเวียต ยังคงมีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง

“ประธานาธิบดีไมอา ซานดู ผู้นำมอลโดวา มีความพยายามอย่างแท้จริง ในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับกาเกาเซีย เพื่อเอาชนะใจและความคิดของประชาชนในภูมิภาคนี้” นายวิลเดอร์ อาเลฮานโดร ซานเชซ ผู้สันทัดกรณีชาวมอลโดวา จากบริษัทที่ปรึกษา “เซเคินด์ ฟลอร์ สตราเทจีส์” ในกรุงวอชิงตัน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ซานเชซ กล่าวเพิ่มเติมว่า มันอาจต้องใช้เวลาหลายปี หรือหลายสิบปี ในการเปลี่ยนความเชื่อของชาวกาเกาเซีย และโน้มน้าวในพวกเขาเชื่อว่า ความพยายามในการเข้าร่วมอียู จะไม่ทำลายอัตลักษณ์ของพวกเขา

อนึ่ง ชาวกาเกาเซียประมาณ 98% สนับสนุนการเข้าร่วมสหภาพศุลกากร รัสเซีย-เบลารุส-คาซัคสถาน และ “ไม่เห็นด้วย” กับการเข้าร่วมอียู ในการลงประชามติท้องถิ่น 2 ครั้ง เมื่อปี 2557 ซึ่งถูกประกาศว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทว่า 10 ปีต่อมา รัฐบาลคีชีเนา หวังว่าความคิดเหล่านั้นจะเปลี่ยนไป

“พวกเรากำลังทำงานร่วมกับคนหนุ่มสาว” ซานดู กล่าวเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับเสริมว่า ประชาชนชาวกาเกาเซีย รับฟังโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียมากเกินไป ซึ่งรัฐบาลมอลโดวา จำเป็นต้องปกป้องผู้คนจากโฆษณาชวนเชื่อ และข้อมูลเท็จให้ดียิ่งขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP