มีคนพูดเข้าหูมาพักใหญ่แล้ว ว่ารัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ปราบปรามหมูเถื่อน ตีนไก่เถื่อน ยางพาราเถื่อนจนอยู่หมัด! จึงอยากให้ช่วยปราบปราม “บุหรี่เถื่อน” ระบาดมาหลายปีแล้วจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะภาคใต้หนักกว่าใครเพื่อน!

คืออยากให้นายกฯเศรษฐากำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ช่วยกันสืบสวนจับกุมขบวนการบุหรี่เถื่อนให้หนักกว่าที่เป็นอยู่

โดยช่องทาง “บุหรี่เถื่อน” เล็ดลอดเข้ามามากที่สุดแถว ๆ จ.สตูล-นราธิวาส-สงขลา-พัทลุง-จันทบุรี-ตราด-อรัญประเทศ(สระแก้ว)-แม่สาย (เชียงราย) ขนเข้ามากองกันไว้ในพื้นที่ จ.นนทบุรี และสมุทรปราการ

สมัยก่อนบุหรี่เถื่อนก็มี! แต่มีแค่ประมาณ 3% (ก่อนปี 2560) ของจำนวนบุหรี่ทั้งหมดที่มีขายในตลาด แต่ปัจจุบันสัดส่วนของบุหรี่เถื่อนที่สะพัดอยู่ในเวลานี้ พุ่งสูงขึ้นไปราว ๆ 22-25% พูดง่าย ๆ ว่าบุหรี่ที่มีวางขายในตลาด 4 ซอง ต้องเป็นบุหรี่เถื่อน 1 ซอง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 25,000 ล้านบาท/ปี เม็ดเงินก้อนนี้มันหอมหวนยิ่งนัก

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ครั้งใหญ่ โดยปรับเปลี่ยนวิธีจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากเดิมเก็บภาษีแค่อัตราเดียว เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษี
อัตราผสม

โดยจัดเก็บภาษีตามปริมาณ กับบุหรี่ทุกยี่ห้อ มวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาทก่อน จากนั้นกรมสรรพสามิตก็เก็บภาษีตามมูลค่าอีก โดยแยกออกเป็น 2 อัตราที่คำนวณภาษีบนฐานราคาขายปลีกแนะนำ ซึ่งกำหนดโดยกรมสรรพสามิต

คือ 1.บุหรี่ที่ตั้งราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษีตามมูลค่าในอัตรา 20% ของราคาขายปลีกแนะนำ โดยให้เวลาผู้ประกอบการกลุ่มตลาดล่างปรับตัว 2 ปี หลังจากวันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีตามมูลค่าในอัตรา 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การจัดเก็บภาษีอัตราเดียวในอนาคต

2.บุหรี่ที่ตั้งราคาขายปลีกเกินซองละ 60 บาท เสียภาษีที่อัตรา 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ

การปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ครั้งนั้น มีผลทำให้บุหรี่มีราคาแพง โรงงานยาสูบต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ

แต่ต่อมาทั้งบุหรี่ของโรงงานยาสูบ และบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศที่เจอภาษีไปซองละ 70-80% ต้องร้องจ๊าก! เหมือนกัน เมื่อเจอ “บุหรี่เถื่อน” เข้ามาตีตลาด ประเภทที่ว่าลักลอบขนกันเข้ามาเป็นคันรถปิกอัพ

ผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 2 ครั้ง ในปี 2560 และ 2565 ทำให้โรงงานยาสูบมีกำไรลดลง 98.97% โดยปี 2561 กำไรจากการดำเนินงานลดลงจาก 9,343 ล้านบาท เหลือ 843 ล้านบาท ปี 2565 มีกำไรสุทธิเพียง 120 ล้านบาท

เหตุผลที่โรงงานยาสูบมีกำไรลดลงอย่างผิดหูผิดตา ไม่ใช่เพราะคนไทยสูบบุหรี่กันน้อยลง! แต่สูญเสียรายได้และกำไรสุทธิไปให้ “บุหรี่เถื่อน”

โดยผลเสียของบุหรี่เถื่อน คือ 1.ส่งผลต่อการระบาดของการใช้ยาสูบในระดับประเทศ 2.ลดทอนประสิทธิภาพของนโยบายภาษีและราคาในการควบคุมยาสูบ คือบุหรี่เถื่อนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นภาษี 3.ราคาถูกทำให้เข้าถึงง่าย (ไม่รู้ว่าผลิตมาจากอะไรกันแน่) ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนอายุน้อย คนยากจน และกลุ่มเปราะบาง 4.ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

5.สร้างรายได้สนับสนุนอาชญากรรมข้ามชาติทำสิ่งที่ขัดกับเป้าหมายของรัฐบาล 6.บั่นทอนเป้าหมายทางสุขภาพ เพิ่มภาระระบบบริการสุขภาพ และลดรายได้จากภาษีของประเทศ และ 7.ชาวไร่ยาสูบที่พึ่งพาโควตาการปลูกจากการยาสูบฯ กว่า 3 หมื่นครอบครัว ต้องได้รับความเดือดร้อนไปด้วย

ใครมีข้อมูลเบาะแสบุหรี่เถื่อน บุหรี่ผิดกฎหมาย แจ้งไปได้ที่สายด่วนบุหรี่ผิดกฎหมาย การยาสูบแห่งประเทศไทย โทร. 0-2229-1434 หรือ 1435 หรือแจ้งเบาะแสผ่านเว็บไซต์การยาสูบแห่งประเทศไทย www.thaitobacco.or.th

…………………….

พยัคฆ์น้อย