นาย ลี เซียน ลุง วัย 72 ปี ขอให้ชาวสิงคโปร์ทุกคนมอบความสนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของหว่อง เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสและเรืองรองร่วมกันให้กับสิงคโปร์ ขณะที่หว่อง วัย 51 ปี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ และจะตั้งใขปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง และสุดความสามารถเพื่อบ้านเมือง

นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ผู้นำสิงคโปร์ และเลขาธิการพรรคกิจประชาชน (พีเอพี ) เมื่อครั้งนำพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2558

เดิมที นายลี เซียน ลุง วางแผนลงจากตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2565 แต่มีอันต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งชาวสิงคโปร์ต้องการให้นายลี เซียน ลุง ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น นับเป็นครั้งที่สองเท่านั้น ในประวัติศาสตร์การเมืองของสิงคโปร์ ที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไม่ได้มาจาก “ตระกูลลี” โดยผู้นำรัฐบาลคนแรกที่ไม่ใช่บุคคลในตระกูลนี้ คือนายโก๊ะ จ๊ก ตง ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2533-2547 ต่อจากนายลี กวน ยู หลังจากนั้นนายลี เซียง ลุง บุตรชายนายลี กวน ยู ขึ้นสู่อำนาจ เมื่อปี 2547

ย่านธุรกิจ ในเขตใจกลางสิงคโปร์

ในฐานะบุตรชายของผู้ก่อตั้งประเทศ คือนายลี กวน ยู นายลี เซียง ลุง ย่อมทราบดีมาตลอด ว่าต้องขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์ในสักวันหนึ่ง

แม้ไม่เข้มงวดเท่าบิดาผู้ล่วงลับ ซึ่งถือเป็นรัฐบุรุษของประเทศ แต่นายลี เซียน ลุง ยกระดับความเข้มงวดในการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคม รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดี กับผู้ที่กล่าวหาว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวกในรัฐบาล และการเอาผิดกับการประท้วง ที่ต่อให้เป็นการประท้วงแบบฉายเดียว ยืนถือป้ายเพียงลำพังก็ตาม

สะพานคาเวนาห์ ซึ่งเป็นสะพานแขวนเพียงแห่งเดียว และเป็นสะพานเก่าแก่ที่สุดของสิงคโปร์

สิงคโปร์ภายใต้การนำของนายลี เซียน ลุง ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เน้นไปที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออก และการลงทุนภายในประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีชีวภาพ และการบริการด้านอุตสาหกรรมการเงิน ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ของนายลี เซียน ลุง เน้นการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากภายจากภายนอก โดยใช้หลากหลายกลยุทธ์ รวมถึง การเดินหน้าเจรจาและจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี ( เอฟทีเอ ) กับนานาประเทศ

นายลี เซียน ลุง เคยกล่าวถึงการเป็นทายาทคนโตของตระกูลลี คือการต้องเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับบิดา ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้หลายเรื่อง ซึ่งเป็นการหล่อหลอมให้เขาเป็นอย่างที่เป็น “ในทุกวันนี้”

เมื่อนายลี กวน ยู ลงจากอำนาจเมื่อปี 2533 และส่งไม้ต่อให้แก่ทายาทการเมืองในเวลานั้น คือ นายโก๊ะ จ๊ก ตง นายลี เซียน ลุง ทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรี โดนก่อนหน้านั้น นายลี เซียน ลุง เคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลาง และรมว.คลังของสิงคโปร์ด้วย

นายลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตนตรีและรมว.คลังของสิงคโปร์

ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศซึ่งมีความผสมผสานอย่างชัดเจน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก การขับเคลื่อนนโยบายการทูตในยุครัฐบาลของนายลี เซียน ลุง จึงเป็นแบบ “ผสมผสาน” และเป็นสถานที่พบปะหารือระกับโลกมาแล้วหลายครั้ง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับผู้นำไต้หวันในเวลานั้น คือประธานาธิบดีหม่า อิง จิ่ว เมื่อปี 2558 และการประชุมเมื่อปี 2561 ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น กับนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน

สำหรับประเทศหนึ่งประเทศใด ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองหรือการบริหารของผู้นำคนเดิมมายาวนาน เมื่อต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะมาจากสาเหตุใด ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน “ย่อมมีอุปสรรค” และความยุ่งยากที่จะเป็นบททดสอบให้กับผู้ที่มารับช่วงต่อเสมอ

สิงคโปร์จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งตามกำหนด ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ล่วงหน้า นั่นคือ พรรคกิจประชาชน ( พีเอพี ) ของนายลี เซียน ลุง กวาดชัยชนะด้วยการได้รับเลือกตั้งเข้ามา 83 จาก 93 ที่นั่ง ในสภาแห่งชาติ ส่วนอีก 10 ที่นั่งเป็นของพรรคคนงาน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสิงคโปร์ ที่พรรคฝ่ายได้รับการเลือกตั้ง ด้วยจำนวนที่นั่งเป็นตัวเลขสองหลัก และเป็นสัญญาณเตือนสำหรับรัฐบาล เกี่ยวกับความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม แม้ยังอยู่ในระดับที่ห่างไกลมาก จากการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล แต่หากพรรคคนงานได้รับเลือกตั้งมากขึ้นทีละนิด ย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับพรรคพีเอพี ซึ่งผูกขาดการเป็นรัฐบาลสิงคโปร์ นับตั้งแต่การสถาปนาประเทศ เมื่อปี 2508

พลวัตทางการเมืองของสิงคโปร์กำลังเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด สิงคโปร์ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ในรอบ 2 ทศวรรษ แม้ไม่ได้มาจากตระกูลลี แต่ยากที่จะปฏิเสธว่า เงาของตระกูลลีจะยังคงอยู่กับสิงคโปร์ไปอีกนานเท่านาน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES