เมืองเนเปิลส์ มหานครที่มีผู้คนคับคั่ง ทางตอนใต้ของอิตาลี กลายเป็นศูนย์กลางตลาดของปลอมที่มีมูลค่าประมาณ 6,000 – 7,000 ล้านยูโร (ราว 237,000 – 277,000 ล้านบาท) ซึ่งมีทั้งกระเป๋าถือ, แว่นกันแดด, เสื้อผ้า และรองเท้า “ที่เป็นของปลอมทั้งหมด” เร่ขายต่อหน้าผู้ซื้อที่ยินดีต่อรองราคา

การปลอมแปลง ถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่น, ของเล่น, อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร หรือแม้แต่ยา ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประเมินว่า สินค้าปลอมมีสัดส่วน 2.5% ของการค้าทั่วโลก

ทว่าอิตาลี ซึ่งเป็นที่ตั้งของแบรนด์แฟชั่นหรูหราที่สุดในโลก กลับเป็นประเทศที่มีการยึดของปลอมมากที่สุด ภายในสหภาพยุโรป (อียู) โดยคิดเป็น 63% ของสินค้าที่ถูกอายัดในปี 2565 ตามรายงานของอียู เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว อีกทั้งเมืองเนเปิลส์ ยังเป็นแหล่งรวมของปลอมที่มีเอกลักษณ์ จนถูกขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงของสินค้าปลอม” ในยุโรปด้วย

เมืองเนเปิลส์ เป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทานแฟชั่นลอกเลียนแบบ “ทุกขั้นตอน” ตั้งแต่การผลิตและการจัดเก็บ ไปจนถึงการจัดจำหน่ายและการขาย ซึ่งทุกกระบวนการอยู่ภายใต้การดูแลของ “กามอร์รา” แก๊งมาเฟียชื่อกระฉ่อนในภูมิภาค

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยของอิตาลี เผยให้เห็นว่า ระหว่างปี 2561-2565 ตำรวจเมืองเนเปิลส์ ยึดสินค้าปลอมได้เกือบ 100 ล้านรายการ มูลค่ารวมมากกว่า 470 ล้านยูโร (ราว 18,500 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 14% ของมูลค่าสินค้าเลียนแบบทั้งหมดที่ยึดได้ในประเทศ

อนึ่ง มรดกทางศิลปะในการตัดเย็บและเครื่องหนัง, ท่าเรือระหว่างประเทศ, อัตราการว่างงานสูง และการหลั่งไหลเข้าของแรงงานต่างชาติราคาถูก ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้การปลอมแปลงสินค้าเฟื่องฟู เช่นเดียวกับการที่ประชาชนในพื้นที่ ทนต่อการละเมิดกฎระเบียบมาอย่างยาวนาน

ยิ่งไปกว่านั้น กามอร์รายังควบคุมการจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการขายของตนเอง หรือกดดันให้เจ้าของร้านขายสินค้าปลอม ท่ามกลางสินค้าของแท้ ซึ่งการสืบสวนของตำรวจในปี 2565 พบว่า คนขายของริมถนนในเมืองเนเปิลส์ ถูกบังคับให้ซื้อสินค้าปลอม หรือต้องจ่ายเงินให้แก๊งมาเฟียมากถึง 200 ยูโรต่อสัปดาห์ (ราว 8,000 บาท) เพื่อแลกกับการเปิดแผงขายของต่อไป

ทั้งนี้ การปลอมแปลงส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการสูญเสียอุปสงค์, การสูญเสียงาน และภาษีค้างชำระ ขณะที่ผู้สันทัดกรณีหลายคน กล่าวเสริมว่า เหตุเพลิงไหม้ที่เป็นพิษในเมืองเนเปิลส์ ซึ่งเกิดขึ้นหลายร้อยครั้งต่อปี มีสาเหตุมาจากการกำจัดเสื้อผ้าและรองเท้าปลอม

แม้แบรนด์ชั้นนำหลายแห่ง ทุ่มเงินมหาศาล และดำเนินการหลายอย่าง เพื่อต่อต้านการปลอมแปลงสินค้า แต่ “อินดิแคม” ซึ่งเป็นสมาคมรณรงค์การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำในอิตาลี ระบุว่า อุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง พร้อมกับเรียกร้องให้อียู ประสานกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการสินค้าปลอมที่ถูกยึด รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES