เราคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าความเครียดเป็นหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็น ความดัน หัวใจ ไมเกรน และโรคอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสาเหตุของความเครียดในแต่ละบุคคลอาจจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่จากความเครียดนี้เอง เมื่อมีความความถี่ที่บ่อยครั้งจากพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ อาจจะส่งผลที่ก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “เสพติดความเครียด” (Adrenal Addict)

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่เสพติดความเครียดจะไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นมีภาวะความเครียดอยู่ เนื่องจากร่างกายมีการตอบสนองและมีการปรับตัวกับความเครียด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายถึงขีดจำกัดต่อความเครียด ร่างกายจะตอบสนองอย่างเฉียบพลันจากความเครียด จนทำให้พฤติกรรมเราเปลี่ยนไปทั้งทางอารมณ์ ไม่มีแรง พฤติกรรมการกิน โดยภาวะดังกล่าว เราเรียกว่า “ภาวะต่อมหมวกไตล้า หรือ Adrenal Fatigue”

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเรามี ภาวะต่อมหมวกไตล้า? วันนี้พี่หมอกุ๊กไก่ จะมาให้ความรู้เรื่องนี้กัน

อย่างที่หมอกล่าวไปเบื้องต้นว่า “ภาวะต่อมหมวกไตล้า” ร่างกายจะต้องถึงขีดจำกัดของร่างกายถึงแสดงอาการออกมา แต่เราสามารถที่จะสังเกตพฤติกรรมของเราที่มีแนวโน้มจะมีภาวะต่อมหมวกไตล้าได้

โดยอาการเบื้องต้นที่จะมีการแสดงตัวออกมานั่นคือ มีอาการอ่อนเพลียโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ พฤติกรรมการกินที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด คือต้องการกินอาหารเค็ม หรืออาหารหวาน เป็นต้น ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะต่อมหมวกไตล้า นอกเหนือจากการสังเกตพฤติกรรมแล้วนั้น สามารถวัดผลได้จากการตรวจเลือดที่ชื่อว่า “คอร์ติซอล (Cortisol)”

“คอร์ติซอล” เป็นฮอร์โมนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียด โดยผู้ที่มีภาวะต่อมหมวกไตล้าจะมีค่า คอร์ติซอล ที่ผิดปกติจากเกณฑ์ทั้งค่าที่สูงเกิน และต่ำเกินเกณฑ์ เนื่องจากผู้ที่มีเครียดร่างกายจะสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลจำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อความเครียด ส่งผลทำให้ค่าคอร์ติซอลสูงเกินเกณฑ์ปกติ

ในขณะเดียวกันเมื่อร่างกายสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงระยะเวลาหนึ่ง ส่งให้ต่อมหมวกไตล้า ร่างกายจึงผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลได้ลดลง ส่งผลทำให้ค่าคอร์ติซอล ต่ำกว่าเกณฑ์ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ มีอารมณ์ที่แปรปรวน ความสามารถในการขจัดความเครียดลดลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า เป็นต้น

ภาวะต่อมหมวกไตล้า เป็นภาวะหนึ่งที่ส่งผลกระทบการคุณภาพชีวิต ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญในการดูแลทั้งผู้ที่มีความเสี่ยง และผู้ที่เผชิญภาวะต่อมหมวกไตล้า ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น นอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลระดับ คอร์ติซอล (Cortisol) ในร่างกายของเรานั่นเอง…

……………………………………………………………………
คอลัมน์ : Ladies Bible
โดย หมอกุ๊กไก่-แพทย์หญิง ณัฐชญา ไมตรีเวช
อ่าน Ladies Bible ทั้งหมดได้ที่นี่..คลิก…