ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่า จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของคณะอนุกรรมการการศึกษาแก้ไขกฎหมายและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่า และศึกษาผลงานวิจัย นวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมี นายสุชาติ อุสาหะ เป็นประธาน นางสาวจิณณพัต เพ็งนรพัฒน์ เป็นเลขานุการ และมีคณะกรรมการและที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีส่วนช่วยเสนอและผลักดันการแก้ไขปัญหาประเด็นที่สำคัญของช้างป่าหลายเรื่อง ส่วนตัวรู้สึกชื่นชมในความตั้งใจ จึงจะขอฝากให้กำลังใจ รวมถึงคณะกรรมการชุดอื่น ๆ และผู้มีส่วนร่วมในการเสนอผลักดันทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาช้างป่า ขอให้การดำเนินงานนั้นประสบความสำเร็จ

อีกทั้งขณะนี้ได้ร่วมหารือกับ นายแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และ นายทศพล กลั่นแก้ว คุณนิติพล ผิวเหมาะ ที่ปรึกษาอนุกรรมการฯ และองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่เป็นพันธมิตรอื่น ๆ จะร่วมกันเสนอและผลักดันแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมาย หรือระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายในเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ร่วมกับประเด็นอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าด้วย เช่น 1. การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ให้ครอบคลุมถึงช้างป่า 2. เร่งรัดผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติช้าง พ.ศ. …. ให้ครอบคลุมถึงช้างป่า ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพ รวมทั้งการป้องกันมิให้มีการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้านโดยมิชอบ การลักลอบค้าช้างป่า การค้างาช้าง การค้าซากและผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำมาจากช้างป่า การมีกองทุนในการช่วยเหลือและพัฒนาช้างป่า การจัดตั้งคณะกรรมการช้างแห่งชาติ เป็นต้น

3. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือกำหนดแนวทางคู่มือการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสม เกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในมาตรา 12 และ มาตรา 13 สำหรับในส่วนของการกระทำ ด้วยความจำเป็นและเหตุสุดวิสัยจากการบุกรุกของช้างป่าภายใต้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นนั้น ควรดำเนินการตามแนวทางสันติวิธี มีมาตรการแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องตามสภาพบริบทแต่ละพื้นที่และเหตุการณ์ต่างๆ โดยควรใช้มาตรการแนวทางที่ต่ำสุดเท่าที่จำเป็นในการกระทำเพื่อให้พ้นภัย หรือควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมมีสัดส่วนของการกระทำต่อช้างป่า ไม่เกินความเสียหายที่ได้รับ โดยการกระทำต่อช้างป่านั้น ต้องเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการสงวนอนุรักษ์และการคุ้มครองสัตว์ป่านั้น.