ปี 2024 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมเกมไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น เพราะเป็นปีที่มีผู้พัฒนาเกมและการเผยแพร่เกมไทยออกสู่ตลาดเกมมากขึ้น รวมถึงยังมีอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับเกมไทยเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งว่า “วงการเกมไทย” กำลังเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้วงการนี้เริ่มกลับมาเป็นที่กล่าวถึง และเป็นจุดประกายสำคัญที่จะทำให้คนไทยได้แสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างโดดเด่นอีกครั้ง!
แล้วทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร FLINT K. จาก เดลินิวส์ออนไลน์ จะพาไปสำรวจเรื่องราวของวงการเกมในประเทศไทยว่ามีสิ่งใดในแวดวงอุตสาหกรรมเกมไทยที่เติบโตขึ้น และมีสิ่งใดที่พวกเขายังขาดไป หรือควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษอีกบ้าง อ่านต่อได้เลยที่นี่!
(หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นโดยความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ภาพที่ใช้ในบทความนี้เป็นภาพประกอบเท่านั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง)
ในส่วนที่เติบโตและเป็นจุดเด่นของวงการเกมไทยในปีนี้ ก็จะมีดังนี้
เกมไทยและผู้พัฒนาเกมไทยในปี 2024 เริ่มมีมากขึ้น
ปี 2024 ถือเป็นปีที่มีเกมไทยหลายชื่อเผยแพร่ออกมามากที่สุดในรอบ 20 ปี โดยตัวเกมที่ออกมาก็มีครบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นแนวแอ๊คชั่น ผจญภัย กีฬา ปริศนา แคชชวล หรือแม้แต่แนวจำลองการใช้ชีวิตและอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ความหลากหลายในการเลือกเล่นเกมฝีมือคนไทยมีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้พัฒนาเกมไทยหลายรายก็ได้สร้างชื่อให้ตัวเองทั้งบนเวทีในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้เกมของพวกเขาเป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ทำให้เกมไทยเริ่มออกสู่ตลาดเกมมากขึ้น
บุคลากรและเทคโนโลยีในประเทศไทยมีความเท่าทันสากล!
นี่คืออีกพัฒนาการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมเกมไทย เพราะในปีนี้ ผู้พัฒนาเกมสัญชาติไทยมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาเกมให้มีความสนุกสนาน เข้าถึงได้ง่าย มีกลไกและกราฟิกที่ทันสมัย และมีอีกจุดขายที่สำคัญคือมีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศ ทำให้หลายเกมที่ออกมาเป็นผลงานที่มีความน่าเล่น น่าดึงดูด และทำให้หลายคนที่ได้สัมผัสมีความรู้สึกเหมือนกับได้เล่นเกมที่มีความเป็นสากลมากขึ้น
รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับวงการเกมไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้ หน่วยงานรัฐบาลก็เริ่มมองเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมไทยมากขึ้น ทำให้พวกเขาเริ่มเข้าหาวงการเกมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการมาของอีเวนต์ THACCA SPLASH – Soft Power Forum ที่เป็นงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย โดยในงานนี้ ทางหน่วยงานรัฐบาลก็จะมี “นิทรรศการเกม” ที่มีทั้งบูธของเกมคนไทยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น เกมพีซี คอนโซล มือถือฝีมือคนไทย เทเบิลท็อปเกม รวมถึงการแข่งขันอีสปอร์ต สโมสรอีสปอร์ตสัญชาติไทย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาทุกนิทรรศการที่จัดขึ้นในช่วงตลอด 3 วันของงาน (28-29-30 มิถุนายน 2024)
หลังจากนั้น ทางหน่วยงานรัฐอย่าง กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ผู้คนทั้งในและต่างประเทศทำความรู้จักกับเกมไทยมากขึ้น โดยพวกเขามีทั้งการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ร่วมกับภาคเอกชน (เช่น งาน Thai Game Craft, Thailand International Game Showcase 2024 และอื่น ๆ อีกมากมาย) รวมถึงยังมีการพาผู้พัฒนาเกมไทยไปเปิดตัวในอีเวนต์เกมต่างประเทศด้วย (ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือการพาเกมไทยไปงาน Tokyo Game Show 2024 ที่ประเทศญี่ปุ่น)
ทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทางรัฐบาลก็ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ในการสร้างภาพลักษณ์ของเกมไทยให้โดดเด่นขึ้นมา พร้อมกับสร้างโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้นมาอีกด้วย!
เกมไทยเริ่มมีพื้นที่สื่อมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ
ด้วยชื่อเสียงและความสนุกสนานของเกมไทยหลายเกม ก็ทำให้เกมเหล่านี้เริ่มมีพื้นที่บนหน้าสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน สื่อสายวิดีโอเกม เทคโนโลยี หรือแม้แต่วงการป๊อปคัลเจอร์ แล้วทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่กับสื่อในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหลายเกมก็ไปดังไกลถึงต่างประเทศ โดยเฉพาะในแวดวงสื่อเกมต่างประเทศ (เช่น IGN เป็นต้น) ที่มีการนำเสนอ หรือแนะนำเกี่ยวกับเกมไทยหลายเกมที่พวกเขามองว่าน่าสนุกและน่าติดตาม
การเปลี่ยนแปลงนี้ คือสิ่งที่สื่อออกไปอย่างชัดเจนแล้วว่า “เกมไทยเริ่มมีหน้ามีตาในสังคมโลกมากขึ้น” อย่างแท้จริง และมันยังมีโอกาสที่จะก้าวไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน!
เกมไทยไปชนะรางวัลบนเวทีต่าง ๆ ทั่วโลก
ตลอดทั้งปีนี้ ผู้พัฒนาเกมไทยที่มีความสามารถหลายรายก็ได้นำเกมของตัวเองไปขึ้นประกวดบนเวทีอีเวนต์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอยู่มากมาย แล้วในหลายครั้ง พวกเขาก็จะคว้ารางวัลจากเกมมาหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นเกมอินดี้ยอดเยี่ยม หรือจะเป็นรางวัลในสาขาอื่น ๆ เช่น ภาพ เสียง นวัตกรรมเกม และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เกมไทยหลายเกมได้ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นมากขึ้น และมีผลงานรางวัลเป็นสิ่งรับรองว่าเกมของพวกเขามีคุณภาพอย่างแท้จริง!
เกมไทยเริ่มคิดนอกกรอบมากขึ้น
เกมไทยส่วนใหญ่ที่ปล่อยออกมาในปี 2024 นี้ มีความหลากหลาย! ผู้พัฒนาเกมหลายรายเลือกที่จะคิดนอกกรอบกันมากขึ้น สังเกตได้จากรายละเอียดเกมหลายเกมที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความแฟนตาซี มีกลไกที่ใกล้เคียงกับเกมสากลมากขึ้น จนทำให้ใครหลายคนที่ไม่รู้จักเกมมาก่อนก็อาจมองไม่ออกว่าเกมเหล่านี้เป็นเกมฝีมือคนไทย
ก่อนหน้านี้ เกมไทยหลายเกมที่ออกมาก็มีการขายเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไทยสูงเกินไป หรืออาจเน้นไปในเส้นทางการ ‘ส่งเสริม’ อะไรสักอย่างมากเกินไป จนผู้เล่นหลายคนมองว่ามันคือการนำโลกความเป็นจริงใส่เข้ามาในเกม แต่สิ่งที่คนเป็น ‘เกมเมอร์’ ต้องการจริง ๆ ในปัจจุบัน คือ การหลีกหนีจากโลกความเป็นจริง เพราะหลายคนก็ใช้ชีวิต เรียน หรือทำงานมาจนเหน็ดเหนื่อย พวกเขาก็ต้องการเล่นเกมที่มีความผ่อนคลาย สนุกสนาน และไม่ต้องทำให้รู้สึกว่าเหมือนต้องอยู่ในโลกความเป็นจริงเสมอไป ดังนั้น การทำเกมให้มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช้ ‘ความเป็นไทย’ มากเกินไป คือวิธีการที่ถูกต้อง!
ประเทศไทยเริ่มมีหลักสูตรสอนเกี่ยวกับเกมในระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลับมากขึ้น!
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทยก็เริ่มเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเกมที่เติบโตขึ้น ทำให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็เริ่มมีหลักสูตรการศึกษาที่มีการเรียบการสอนเกี่ยวกับการสร้างเกม พัฒนาเกม จัดการแข่งขันอีสปอร์ต หรือกิจกรรมพิเศษที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของเกมทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติมากขึ้น ทำให้นักเรียนและนักศึกษายุคใหม่สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและความรู้ในวงการเกมและอีสปอร์ตได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในเมื่อวงการเกมไทยมีจุดเด่นที่เกิดขึ้นมากมายแล้ว มันก็ยังมีสิ่งที่ขาดหายไปอยู่เช่นกัน โดยในส่วนที่ยังขาดหายไป หรือยังเป็นจุดด้อยของวงการเกมไทยในปีนี้ มีดังนี้
ผู้พัฒนาเกมไทยบางรายยังขาดความรู้ในด้านธุรกิจ
ผู้พัฒนาเกมไทยบางส่วน อาจยังขาดในเรื่องของความเข้าใจในด้าน ธุรกิจ ในวงการเกม พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า การเริ่มสร้างเกมขึ้นมาขาย มันคือการสร้าง ‘ธุรกิจ’ ขึ้นมาแล้ว เพราะมันจะต้องมีทั้งเรื่องของการวางแผนการสร้างเกม ต้นทุน การตลาด และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นปัจจัยทางธุรกิจ แล้วต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เกมของพวกเขาสามารถขายได้ หรือมีกำไรเกิดขึ้น และมันก็มีโอกาสที่ความเสี่ยงรูปแบบอื่นอาจเกิดขึ้นได้ เช่น เศรษฐกิจของประเทศ ภัยพิบัติธรรมชาติ หรือปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ การวางแผนทางธุรกิจให้รอบคอบคือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการทำเกม
ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้พัฒนาเกมไทย โดยเฉพาะทีมผู้บริหาร จะต้องเสริมความรู้ในด้านธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นตลอดช่วงพัฒนาเกม ไปจนถึงช่วงหลังจากวางขายหรือเปิดให้บริการเกมไปเรียบร้อยแล้ว
ผู้พัฒนาเกมยังต้องพัฒนาความสามารถในการ Pitching
ปัจจัยนี้ คืออีกหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้พัฒนาเกม เพราะ การนำเสนอไอเดียแบบ Pitching คือส่วนสำคัญในแผนธุรกิจการทำเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทีมผู้สร้างเกมไม่มีต้นทุนหรือทรัพยากรที่เพียงพอ การนำไอเดียการสร้างเกมไปเสนอให้กับนายทุน หรือผู้ที่สามารถเป็น ‘สปอนเซอร์’ ให้กับการสร้างเกมได้ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
การ Pitching ในวงการเกม ไม่ค่อยมีความแตกต่างจากธุรกิจรูปแบบอื่นเท่าไร เพราะการเปิดวางขายหรือให้บริการเกม ก็คือการวางขายสินค้า 1 อย่างที่แทบไม่มีข้อแตกต่างจากธุรกิจการค้าทั่วไป หรือการค้าดิจิทัลรูปแบบอื่นเลย ทำให้หลักการนำเสนอไอเดียการสร้างเกม สามารถนำหลักการของธุรกิจรูปแบบอื่นมาปรับใช้ได้
แล้วจะ Pitching เกมให้นายทุนเข้าใจได้อย่างไร? มันไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย! ผู้พัฒนาเกมจะต้องอธิบายแผนธุรกิจของตัวเองให้ครอบคลุมว่าพวกคุณเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เพื่อใคร รวมถึงต้องมีการนำข้อมูลในเชิงสถิติต่าง ๆ และแผนการตลาดมาอธิบายให้ชัดเจน รวมถึงต้องมีแผนรองรับความเสี่ยง และผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่ไป Pitching จะต้องมีสกิลและบุคลิกภาพในการสื่อสารที่ดี เพื่อให้ผู้สนับสนุนเชื่อถือได้ว่าพวกเขาจะลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ!
ผู้พัฒนาเกมไทยยังไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะทำเกมระดับ AAA ได้
ในปัจจุบัน เกมไทยโดยส่วนใหญ่ที่ได้เผยแพร่ออกไปยังจัดให้เป็น ‘เกมอินดี้’ (Indie Games) เนื่องด้วยปัจจัยของกลไก ความอลังการของกราฟิก รวมถึงข้อจำกัดอื่น ๆ ในด้านการให้บริการเกม ในตอนนี้เรายังไม่ค่อยได้เห็นเกมไทยที่จัดเป็นเกม AAA (เกมที่ใช้ทุนสร้างสูง) ออกมาให้เห็นเท่าไร แต่ปัจจัยนี้ก็เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องทุนที่ไม่เพียงพอ รวมถึงช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่กระแสเกมไทยกำลังก่อตัวขึ้นมา และยังไม่มีผู้เผยแพร่ (Publisher) ทั้งจากไทยและต่างประเทศออกมาสนับสนุนเกมระดับทุนหนามากนัก ทำให้ยังไม่ค่อยมีเกมไทยเกมใดที่สามารถไปตีตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้! ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันสนับสนุนและสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงมีการวางแผนการตลาดที่ชัดเจนมากขึ้น ทำทุกอย่างให้มี Ecosystem มากขึ้น เชื่อว่าการมาของเกม AAA ของไทย ที่จะไปตลาดโลก ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในสักวันหนึ่ง!
นักลงทุนยังขาดความเข้าใจในเรื่องของเกมไทย ยังไม่เห็นภาพรวมของการลงทุนกับเกมมากเท่าไรนัก
ปัญหานี้ เกิดขึ้นมาจากทั้งภาพจำในเชิงลบของผู้คนบางส่วนที่มีต่อวงการเกม บวกกับความเป็น “เฉพาะทาง” ของความเป็นเกม ทำให้ผู้คนนอกวงการอาจไม่เข้าใจว่าเกม โดยเฉพาะเกมไทย ว่าจะเกิดประโยชน์กับพวกเขาอย่างไร การลงทุนกับเกมจะมีผลตอบแทนอะไรสู่พวกเขา หรือสังคมบ้าง หรือเรื่องของ ‘ความเป็นเกม’ มันควรจะเป็นอย่างไรบ้าง
โดยทั้งหมดนี้ ผู้พัฒนาเกมจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนว่าเกมที่พวกเขาสร้างขึ้นมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน สามารถสร้างกำไรได้ หรือสามารถต่อยอดกับสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การสร้าง Merchandise หรือการนำเกมเข้าไปคอลแลปกับธุรกิจประเภทอื่น เช่น การท่องเที่ยว อาหารเครื่องดื่ม สุขภาพ กีฬา ศิลปะ และอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะการสร้างเกมก็ล้วนเกิดขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกความเป็นจริง แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาดัดแปลงให้มีความสร้างสรรค์ แตกต่างจากเดิมไป
ดังนั้น การนำเกมไปต่อยอด หรือสร้างการเข้าถึงในวงกว้าง ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้วงการเกมเติบโตขึ้น และทำให้นักลงทุนมีความรู้สึกว่าเป็นความคุ้มค่าที่จะลงทุนด้วยแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา
คนไทยบางส่วน ยังมีภาพจำในเชิงลบเกี่ยวกับเกมอยู่
นี่คือสิ่งที่เป็นทั้งภาพจำ ทัศนคติ รวมถึงการนำเสนอในเชิงลบที่เกิดขึ้นกับวงการเกมมากอย่างยาวนาน ในอดีต “เกม” เป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอออกไปในทางที่ไม่ดี เช่น การโทษเกมว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา หรือการนำปัญหา เรื่องร้ายบางอย่างไปโยงกับเกม ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยสิ่งเหล่านี้ยังมีให้เห็นอยู่บ้างทั้งผ่านหน้าโซเชียลมีเดีย หรือสื่อมวลชนบางแห่ง
แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของเกม หรือการสร้างเกมเปลี่ยนไป! เพราะเกมไม่เคยเป็นปัญหาในตัวมันเอง มันคืองานที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ตัวเกมเองไม่สามารถสร้างปัญหาทั้งหมดขึ้นเองได้
สิ่งที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในภาพจำเหล่านี้ คือการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเกมในเชิงบวกมากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจว่า “เกม” คือศิลปะที่สร้างความสนุก เพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายได้ และไม่ใช่สิ่งที่เป็นโทษ (หากไม่ได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือเล่นมากจนเกินไป) โดยปัจจัยทั้งหมดนี้ ผู้คนที่อยู่ในแวดวงสื่อจะสามารถเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญให้กับผู้คนทั่วไปได้มากที่สุด แต่ต้องเลือกนำเสนอในทางที่ดี มากกว่าทางที่ไม่ดี รวมถึงควรมีการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งคนในและนอกวงการด้วย
ประเทศไทย ยังขาดผู้เผยแพร่และแพลตฟอร์มบริการเกมไทย ทำให้ไอพีไทยยังไม่มีการนำมาสร้างกำไรให้ประเทศไทยแบบ 100%
ในปัจจุบัน มี ไอพี (IP – Intellectual Property – ทรัพย์สินทางปัญญา) ที่เป็นของไทยออกสู่ตลาดอยู่มากมาย ทั้งหมดนี้สื่อให้เห็นว่ามีเกมไทยที่พัฒนาโดยคนไทยอยู่มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังขาดกลุ่ม “ผู้เผยแพร่” (Publisher) ที่เปิดให้บริการ “ไอพีเกมไทย” อย่างจริงจัง จะมีเพียงแต่ผู้เผยแพร่เกมสัญชาติไทยที่นำไอพีเกมจากต่างประเทศมาเปิดให้บริการภายในประเทศเท่านั้น ทำให้การหมุนเวียนของกำไรที่ได้จากผู้เผยแพร่เหล่านี้ยังคงไหลออกจากประเทศไปอยู่บ้าง
แต่การจะก่อตั้ง “ผู้เผยแพร่ในประเทศไทย” ก็ไม่ได้ง่าย! เพราะมันจะต้องอาศัยทั้งความก้าวหน้าของผู้พัฒนาเกมไทย รวมถึงความสนใจของตลาดเกมไทยจากผู้คนทั่วไปที่มีความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงยังมีต้องมีผลประกอบการที่ชัดเจนมากขึ้นอีกเช่นกัน
ด้วยปัจจัยที่ยังขาดหายไปนี้ ทำให้ผู้พัฒนาเกมบางส่วนมีความจำเป็นต้องหาผู้เผยแพร่ หรือแหล่งเผยแพร่จากต่างประเทศมาช่วยเสริมในส่วนที่ขาดไปก่อน แล้วถ้าในวันหนึ่ง อุตสาหกรรมเกมไทยเริ่มเติบโตขึ้นและมีโครงสร้างทางธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ มันก็มีโอกาสที่ “ผู้เผยแพร่สัญชาติไทยหน้าใหม่” จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
เกมไทยยังไม่ค่อยขาย Soft Power ของไทยมากเท่าไร
แม้ว่าในปัจจุบัน เกมไทยหลายเกมจะมีความคิดสร้างสรรค์แบบหลุดนอกกรอบออกไป แล้วเป็นที่ชื่นชอบอยู่มากมาย แต่มันก็ทำให้เกมไทยที่ขายความเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย” เริ่มหาย หรือมีน้อยลงตามกันไปด้วย แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผู้พัฒนาเกมจะต้องลงรายละเอียดในเกมให้มี “ความเป็นไทย” สูงเกินไป เพราะมันอาจทำให้ผู้เล่นไทยรู้สึกยึดติดกับโลกความเป็นจริงมากเกินไป ในขณะที่ผู้เล่นต่างชาติก็อาจไม่เข้าใจกับวัฒนธรรมบ้านเราอีกเช่นกัน
ดังนั้น ถ้ามีความเป็นไปได้ เกมไทยบางเกม ก็สามารถเพิ่มเนื้อหาที่แสดงถึงความเป็นไทยออกไปได้บ้าง เพื่อให้ผู้เล่นเข้าใจถึงชีวิตประจำวัน หรือวัฒนธรรมของคนไทย ตัวอย่างเช่น เรื่องการใช้ชีวิต การทำงาน แนวคิด ยาดม อาหาร เครื่องดื่ม สัตว์ป่า เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้อาจต้องทำออกมาในรูปแบบที่มีความน่าดึงดูดและมีความสร้างสรรค์ แต่มันก็อาจเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับใครหลายคนได้อีกเช่นกัน
เน้นย้ำว่าการขายเรื่องราวความเป็นไทยในเกม ไม่ควรจะเป็นการ “Hard Sell” มากเกินไป จนทำให้ใครหลายคนอาจรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ในโลกความเป็นจริงอยู่ หรืออาจไม่ได้รู้สึกอยากสนใจสิ่งเหล่านี้มากนัก
จากทั้งหมดนี้ เราก็จะสรุปได้ว่าในตอนนี้ เกมไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเชิงบวก แต่มันก็ยังมีอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผู้พัฒนาเกมไทยทุกรายจะต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่บ้าง อีกหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ ก็คือเรื่อง “ตลาดเกมโลก” ที่จะมาทั้งในรูปแบบการนำไอพีเกมของตัวเองเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย หรือจะเป็นการนำไอพีเกมจากต่างประเทศมาดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตลาดคนไทย ก็เป็นอีกเรื่องที่คนไทยจะต้องทำงานกันให้หนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ตัวเองสามารถไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างโดดเด่น
ชาวเกมไทยอย่าเสียกำลังใจไป! เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการเกม ถ้านับเฉพาะในปี 2024 นี้ก็ถือเป็นก้าวการเติบโตที่เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงแค่การต่อเติมและเสริมบางอย่างเข้าไป ก็จะช่วยให้วงการเกมเริ่มมีระบบและระเบียบเป็นของตัวเองมากขึ้น สุดท้ายแล้วถ้าทุกฝ่ายสามารถรักษามาตรฐานของตัวเองไปได้ วงการก็จะเติบโตเพื่อไปทัดเทียมกับเพื่อนบ้านในเอเชีย หรือแม้แต่ในโลกใบนี้ได้เลย!
——————————————–
THE GAMER LIFE Exclusive Content
คอลัมน์โดย: ภาริช ต่อพิมาย (FLINT K.)
ติดตามเรื่องราวเจาะลึกชีวิต ไลฟ์สไตล์ คัลเจอร์ในโลกของเกมได้ที่: THE GAMER LIFE by FLINT K.