“๒๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา ผมได้รับความกรุณาจากทันตแพทย์สองท่านที่ผมสนิทสนม ด้วยการหารือผ่านโซเชียลมีเดียคำแนะนำของท่านทั้งสองช่วยยืนยันสมมุติฐานเกี่ยวกับภาวะเหงือกบวมที่ขอบฟันหน้าซี่หนึ่งว่าเกิดจากคราบหินปูนเกาะฟัน” เรื่องเล่าจากครูแพทย์คนหนึ่งในที่ประชุมวิชาการสำหรับนักเรียนปริญญาเอกสาขาวิทยาการระบบสุขภาพ ม.มหิดล

เรื่องราวเบื้องหลังคำกล่าวนั้นมีอยู่ว่า พ่อแม่ของหลานอายุสี่ขวบกว่าส่งรูปถ่ายเหงือกดังกล่าวทางออนไลน์มาให้ครูแพทย์ผู้เป็นปู่เพื่อขอปรึกษา ทันทีที่เห็นรูป ครูแพทย์ก็นึกถึงภาวะเหงือกอักเสบที่น่าจะเกิดจากคราบหินปูน

อย่างไรก็ดีด้วยตระหนักว่า ตนเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ส่งรูปไปปรึกษาเพื่อนทันตแพทย์สองท่านได้คำตอบตรงกันว่าเป็นภาวะเหงือกอักเสบที่น่าจะเกิดจากคราบหินปูน

ก่อนทำตามคำแนะนำ 48 ชั่วโมงหลังทำตามคำแนะนำ

สี่วันต่อมา

เรื่องราวสั้นๆ นี้ให้ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการขยายโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น ดังนี้

๑) จะมีคนไทยสักกี่คนที่โชคดีได้ทันตแพทย์เป็นกัลยาณมิตร จึงได้รับความกรุณาอย่างว่องไวปานนั้น ในความเชื่อของผู้เขียนและผู้ร่วมอภิปรายในที่ประชุมวิชาการดังกล่าวเห็นตรงกันว่า คนไทยอีกจำนวนมากน่าจะไม่โชคดีอย่างนั้น

๒) เช่นนี้แล้ว ควรทำอย่างไรเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงแหล่งความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ (ในกรณีนี้คือทันตแพทย์) โดยสะดวก ถ้วนหน้า

๓) คำว่าโลกออนไลน์แปลว่า แต่ละคนเชื่อมโยงถึงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็จริง แต่การจะเชื่อมโยงถึงกันแล้วนำไปสู่การเกื้อกูลกันดังเรื่องเล่านี้ได้ ยังต้องอาศัยเงื่อนไขเฉพาะ ในกรณีนี้คือ ความรู้จักกัน ไว้ใจกันมากพอที่จะตอบสนองพึ่งพาอาศัยกันเช่นนั้น สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เป็นการสะสมประสบการณ์จากการใช้ชีวิตร่วมกันมายาวนาน กล่าวอีกนัย นี่คือทุนทางสังคมของแต่ละคนที่มาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย กลายเป็นศักยภาพที่เมื่อความจำเป็นเกิดขึ้นก็สามารถนำมาใช้ คล้ายกับการฝากถอนเงินจากธนาคาร

๔) ดูเหมือนสถานการณ์โควิดทำให้ความสำคัญของการสื่อสารออนไลน์ประจักษ์ชัดและเร่งด่วนมากขึ้น ในส่วนของการจัดบริการสุขภาพ เห็นได้ชัดว่า รพ.ต่างๆ พยายามสนับสนุนให้คนไข้ไม่ต้องมา รพ.ด้วยตนเองแต่ยังคงเข้าถึงบริการได้ใกล้เคียงกับก่อนโควิดระบาด แม้ว่า ข้อเท็จจริงบางส่วนปรากฏว่า คุณภาพบริการสุขภาพหรือการเข้าถึงบริการสุขภาพถดถอยลงในช่วงโควิดระบาดจนต้องปิดเมือง รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนคุ้นเคยแสดงตัวเลขให้เห็นว่า สัดส่วนคนไข้เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีลดลงจากเดิมร้อยละสี่สิบเป็นร้อยละสามสิบ ส่วนหนึ่งเนื่องจาก รพ.ไม่สามารถจัดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันเป็นหมู่สำหรับคนไข้เบาหวานได้เหมือนเดิม (diabetic group education)

ดังนั้น ความท้าทายในการปรับตัวร่วมกันของ รพ.และคนไข้คือ แยกแยะได้ว่า ส่วนไหนที่ควรจัดบริการออนไลน์ ส่วนไหนยังจำเป็นต้องเจอหน้ากัน เรื่องเล่าภาวะเหงือกบวมอาจเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า บริการออนไลน์เพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาแบบนี้ได้ เพราะคำแนะนำของทันตแพทย์โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายเท่านั้น คือให้ทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันให้พิถีพิถันมากขึ้น ร่วมกับใช้เส้นดายขัดฟันวันละสองครั้ง ซึ่งปรากฏผลตอบสนองเร็วมากในกรณีนี้ ดังรูปที่สอง (ถ่ายเมื่อ 48 ชั่วโมงหลังเริ่มทำตามคำแนะนำ)

นอกจากความท้าทายเช่นนี้ยังมีเงื่อนไขอื่นๆที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปอีกหลายประการ เช่น อุปกรณ์สื่อสาร ความเข้มและการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยทั่วถึง แหล่งความรู้เสริมจากการสื่อสารโดยตรงกับมืออาชีพ (ดังตัวอย่างเว็บไซต์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากในเด็ก https://raisingchildren.net.au/toddlers/health-daily-care/dental-care/dental-care-toddlers#the-best-way-to-brush-your-childs-teeth-nav-title)

๕) กลับมาที่คนไข้รายนี้ ถามว่า เหงือกบวมอักเสบป้องกันได้หรือไม่ ความรู้จักตัวอย่างเว็บไซต์ข้างบนบอกว่าคำตอบก็ตรงไปตรงมาในหลักการนั่นคือ งดหรือลดของหวานและเครื่องดื่มหวานทุกชนิด อาจยืดหยุ่นบ้างโดยให้กินสัปดาห์ละครั้ง แปรงฟันสม่ำเสมอวันละอย่างน้อยสองครั้ง โดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็ก (มีความเข้มข้นต่ำ) ครั้งละขนาดเม็ดถั่วเล็กๆ ให้เด็กบ้วนน้ำลายระหว่างแปรงฟันตามที่แกต้องการ ไม่ต้องบ้วนน้ำหลังแปรงฟัน เพื่อให้ฟลูออไรด์ค้างไว้ปกป้องฟัน ถ้าใช้ด้ายขัดฟันได้ก็จะดี แต่ประสบการณ์ของผมพบว่ากับเด็กเล็กต่ำกว่าห้าปีไม่ง่าย

อย่างไรก็ตามถ้าฝึกใช้ตั้งแต่ฟันซี่แรกๆ ขึ้น ให้เด็กเริ่มชินเมื่อโตขึ้นเด็กสองสามขวบอาจร่วมมือให้ใช้ด้ายขัดฟัน ระหว่างแปรงฟันและหรือใช้ด้ายขัดฟันควรสร้างบรรยากาศเพลิดเพลินเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับเด็ก บางคนอาจถือตุ๊กตาตัวโปรดไว้ในมือระหว่างแปรงฟัน บางคนชอบฟังเพลงเป็นต้น ข้อห้ามคือ อย่าฝืนใจเด็กเป็นอันขาด บางคนอาจสนใจลองใช้ด้านในของเปลือกกล้วยหรือเปลือกส้มถูฟันเบาๆ เหมือนตอนแปรงฟันให้เด็ก กรณีคนไข้รายนี้ ผมพบว่าแกยอมรับได้ครับหลังจากต่อรองว่าจะขอเล่นอุปกรณ์ที่แกกำลังสนใจ

๖) ประการสุดท้าย คนไข้รายนี้สอนผมว่า ภาวะเหงือกอักเสบเพียงเท่านี้ทำให้ไข้สูงได้ถึงกว่า ๓๘ เซลเซียสในช่วงค่ำได้บางวันก่อนปรากฏลักษณะเหงือกดังภาพแรก และเมื่อเหงือกดีขึ้นดังภาพสุดท้ายไข้ก็หายไป ข้อสรุปนี้ได้จากการค้นพบว่าไม่มีความผิดปกติอื่นให้ตรวจพบด้วยการคลำต่อมน้ำเหลืองใต้คาง คอ ข้อพับ ไม่มีคอแดง ไม่มีผื่นผิวหนัง นอกจากเวลามีไข้ เด็กร่าเริงเป็นปกติเกือบทุกประการยกเว้น แกบ่นเจ็บปากเวลาให้กินอาหารและกินได้น้อยลงชัดเจน

Dental care for toddlers

raisingchildren.net.au

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด