ทีมข่าวอาชญากรรม” ย้อนรอยทลายรังถึงถิ่น ตำรวจกัมพูชาเข้าตรวจค้นจับกุมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่พิกัดตึกภูมิตาสวน เมืองปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา พบเป็นคนไทย 119 ราย จึงประสานส่งตัวข้ามแดน

1 มี..68 จเรตำรวจแห่งชาติ นำคณะไปรับตัวทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการ NRM หรือ กลไกการส่งต่อระดับชาติ เพื่อคัดแยกว่ามีใครเป็น“เหยื่อ” ถูกบังคับมาใช้แรงงานหรือไม่

หลังผ่านกระบวนการ NRM และจากที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ สามารถรวบรวมพยานหลักฐานหลายส่วนทั้งฐานข้อมูลไทยโปลิสออนไลน์ พบมีผู้เสียหายคนไทยแจ้งความไว้ 48 เคส

ในจำนวน 119 ราย เป็นผู้กระทำผิดคดีอื่นติดตัว 7 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย และอีก 15 รายถูกจับกุมได้อีกตึกไม่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ เบื้องต้นล็อตใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงมี 93 ราย

โดยวันที่ 3 มี..ตำรวจไซเบอร์ได้ควบคุมตัวทั้ง 93 ราย ออกจาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มาเริ่มกระบวนการสอบปากคำ เค้นข้อมูล พบโครงสร้างเป็นขบวนการใหญ่ คนไทยทั้งหมดมีหน้าที่เป็นเพียงพนักงานที่อาศัยอยู่ในตึกหลังเดียว แต่ภายในแบ่งเป็นห้องย่อยมากกว่า 20 ห้อง

แต่ละห้องถูกเรียกว่าออฟฟิศ และใช้ทำการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ ไม่ต่างจากที่ปรากฎเป็นข่าว ทั้งอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง เป็นเจ้าหน้าที่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังหลอกลวงลักษณะข่มขู่ หลอกให้รักและลงทุน หรือโรแมนซ์สแกรมด้วย

มีผู้ต้องหาบางรายให้การว่า มีบอสชาวจีนกว่า 20 ราย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาในแต่ละออฟฟิศ เพื่อตรวจสอบและสั่งการผ่านล่าม

ที่น่าตกใจ ผลการสอบสวนของทางการกัมพูชา และผลคัดกรองตามกระบวนการ NRM ของทางการไทยพบว่า ทั้งหมดสมัครใจไปทำงานที่ปอยเปต มีการโพสต์โซเชียลหางานสีเทาด้วยตนเอง โดยมีรายได้จะอยู่ที่รายละ 20,000 บาทต่อเดือน และมีค่าคอมมิชชั่น 5% แต่เมื่อข้ามแดนจะมีค่าดำเนินการ ทำให้ต้องติดหนี้กับบริษัทรายละ 70,000 บาท

รายใดตัดสินใจไม่ทำงานต้องหาเงินใช้หนี้ หรือหักจากเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท ทำให้เชื่อว่ากลอุบายนี้ทำให้คนที่ข้ามไปทำงานจะต้องทำงานอย่างต่ำนาน 7 เดือน

การบุกทลายรังครั้งนี้ ถือว่าสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เพียงบางส่วน เพราะวันเข้าปฎิบัติการยังมีผู้ต้องหาที่สามารถหลบหนีไปได้อีกประมาณ 1,000 ราย โดยมีทั้งคนไทย อินเดีย อินโดนีเซีย คนจีน

จากการรวบรวมข้อมูลเผยให้เห็นการทำงาน หลังก้าวเข้ามา 3 วันแรกต้องรับฟังรูปแบบการหลอกลวง โดยเฉพาะการเริ่มสนทนาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ แบ่งหน้าที่ 4 ขั้นตอน ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 เป็นระบบหลังบ้านแบบอัตโนมัติ จะเป็นการสุ่มโทรไปหาเหยื่อ ระบบจะมีข้อมูลส่วนตัวชื่อ-สกุล อายุ เลขบัตรประจำตัวประชาชน สถานที่ทำงานก่อนเกษียณ ข้อมูลการรับราชการและอื่น ๆ หากรับสายต่อด้วยขั้นตอนที่ 2 ทำหน้าที่พูดคุยเพื่อให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง(ปลอม)

ต่อมาขั้นตอนที่ 3 จะมีการใช้บทสนทนา ดังนี้ “สวัสดีครับ คุณผมติดต่อจาก(หน่วยงานที่เหยื่อเกษียณ) เอกสารเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าครองชีพ(ชคบ.) คุณได้รับเอกสารมาหรือยัง พรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะยื่นขอรับเงินชดเชย ทางหน่วยงานได้ส่งเอกสารไปที่บ้านเลขที่…(ตามข้อมูลที่อยู่ในระบบ) หากยังไม่ได้รับเอกสารให้ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง เพื่อขอคัดลอกเอกสาร โดยให้ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์เบอร์โทรของขั้นตอนที่ 3)” และพูดคุยเพื่อเป้าหมายให้โทรหา โดยขั้นตอนนี้มีหน้าที่หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน apk เพื่อควบคุมโทรศัพท์ หากไม่ติดตั้งจะหลอกให้โอนเงินโดยตรง เริ่มจากแนะนำชื่อ…จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ เพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์ ชคบ.

จากนั้นจะส่งลิงก์ลงทะเบียนที่ติดตั้งแอปฯapk และให้เข้าไปปิด play protect โดยบอกทีละขั้นตอน เพื่อให้โทรศัพท์เหยื่อติดตั้งได้ แอปฯดังกล่าวมีหน้าตาเหมือนแอปฯกรมบัญชีกลางของจริง หลังทำสำเร็จเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 ที่มีหน้าที่ถอนการติดตั้งแอปฯธนาคารที่แท้จริงและติดตั้งแอปฯโคลนของธนาคาร , ควบคุมระยะไกล , ปิดการแจ้งเตือน และอื่นๆที่ทำให้เหยื่อไม่สามารถเข้าใช้งานได้ชั่วคราว เมื่อควบคุมสำเร็จจะทำการโอนเงินจากธนาคารของเหยื่อไปบัญชีธนาคารที่นายทุนจีนและล่ามเป็นผู้จัดหามา

บัญชีที่ใช้ในการรับเงินจากเหยื่อจะถูกใช้จนกว่าบัญชีจะถูกอายัด ออฟฟิคแก๊งดักล่าวไม่มีเพดานจำนวนเงินที่ต้องหลอกแต่กำหนดให้แต่ละเดือนต้องติดตั้งแอปฯapkให้ได้เดือนละ 10 ครั้ง หากไม่ถึงเป้าจะไม่ไล่ออกแต่ใช้การข่มขู่ทำร้ายด้วยกระบอกไฟฟ้า

การบุกทลายถึงรังคอลเซ็นเตอร์ยกแก๊งก่อนพาตัวกลับประเทศ เพื่อดำเนินคดี ไม่ใช่ภาพที่ปรากฎให้เห็นได้ง่าย ๆ รวมถึงการตั้งข้อหาหนักเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ก่อนบทลงโทษทางกฎหมายมาถึง ชัดเจนว่ากฎแห่งกรรมเริ่มทำงานแล้ว.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]