การฆ่าคนในครอบครัว แล้วฆ่าตัวตายตาม ถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวที่“เลวร้าย” แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็ปรากฎให้เห็นเป็นระยะ ประเด็นที่นำมาสู่การตัดสินใจมีข้อสังเกตส่วนใหญ่มาจากปัญหา“หนี้สิน”ที่ไม่ต้องการให้คนข้างหลังมารับผิดชอบ

ประเด็นหนี้สินและการฆ่าตัวตาย ก่อนหน้านี้มีผลสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งมีรายละเอียดที่ชี้ให้เห็นภาพความสูญเสียจากปัญหาดังกล่าว ช่วงเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-ส.ค.2564 เฉพาะตามข่าวที่ปรากฎผ่านสื่อออนไลน์พบปัญหาการฆ่าตัวตายจากหนี้สินจำนวน 50 ราย  มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน แยกรายปี ดังนี้

ปี 2560 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 4 ราย ผู้เสียชีวิต 4 คน

ปี 2561 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 4 ราย ผู้เสียชีวิต 3 คน

ปี 2562 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 12 ราย ผู้เสียชีวิต 14 คน ไม่เสียชีวิต 3 คน

ปี 2563 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 20 ราย ผู้เสียชีวิต 26 คน ไม่เสียชีวิต 1 คน

ปี 2564 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 10 ราย ผู้เสียชีวิต 12 คน

ในรายงานวิเคราะห์ลักษณะความรุนแรงที่น่าสนใจคือ“การฆ่าตัวตายหมู่”ที่สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ “กรณีสมัครใจฆ่าตัวตายด้วยกัน” และ “กรณีเจตนาฆ่าตัวตายทั้งครอบครัว แต่บุคคลใกล้ชิดไม่รู้ตัว”

การฆ่าตัวตายยกครัว  ในปี 2562 เฉพาะกรณีเจตนาฆ่าตัวตายและฆ่าบุคคลในครอบครัว  พบว่าผู้ลงมือคือ“หัวหน้าครอบครัว” กระทำกับภรรยาและลูกสาวอีก 2 คน สุดท้ายผู้ลงมือรอดตาย แต่ภรรยาและลูกเสียชีวิต สาเหตุจากหนี้ที่กู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน , ปี 2563 กรณีแรกมีผู้เสียชีวิตรวม 4 คน เป็นกรณีกระทำกับภรรยาและลูกสาว 2 คน เหตุจากหนี้ที่กู้ยืมมาใช้ในชีวิตประจำวัน  , อีกรายเสียชีวิตรวม 5 คน ได้แก่ ภรรยา แม่ของผู้ลงมือ พี่สาว และลูกชาย  เหตุจากการกู้ยืมเงินจำนวน 10 ล้านบาท และต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละแสน

ทั้งนี้  ให้ข้อสังเกตุกรณีฆ่าตัวตายหมู่ หรือฆ่าตัวตายยกครัวคือ ผู้ลงมือมักเป็นผู้รับผิดชอบครอบครัว หรือหัวหน้าครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจนไม่มีทางออกต้องลงมือฆ่าคนใกล้ชิดเพื่อจะได้หมดภาระ

จากข้อมูลยังพบว่าผู้ประสบปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากหนี้นอกระบบ และบางรายเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ  โดยปี 2562-2564 พบอัตราส่วนของหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น  สาเหตุการเป็นหนี้โดยหลักมาจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 31 , การนำเงินมาลงทุนค้าขาย ร้อยละ 21 , เล่นพนันออนไลน์ ร้อยละ 8 , ลงทุนในธุรกิจ ร้อยละ 7 , หนี้จากการค้ำประกันนอกระบบให้คนอื่น ร้อยละ 6 ที่เหลือเป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าผ่อนงวดรถ

เป็นที่รู้กันว่าในแต่ละปีสถิติการฆ่าตัวตายทั่วประเทศเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย  จากข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ระบุแต่ละปีประเทศไทยมีสถิติการฆ่าตัวตายเฉลี่ย  3,300-3,800 คน แต่หากรวมลักษณะทำร้ายตัวเองทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิตจะเฉลี่ยสูงถึงปีละ 25,500-27,000 คน  ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาปี 2542 มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดคือ 8.59 ต่อประชากรแสนคน

ขณะที่ปี 2563 พบสถิติฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,823 คน คิดเป็น 7.4 ต่อประชากรแสนคน  โดยผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเฉลี่ย 12.2 ต่อประชากรแสนคน  ส่วนผู้หญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 2.7 ต่อประชากรแสนคน  ปัจจัยเกี่ยวข้องที่นำไปสู่จุดจบมากสุดยังเป็นปัจจัยด้านความสัมพันธ์ ร้อยละ 48.2 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 30.5 ปัจจัยด้านสุขภาพการเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ ร้อยละ 22.8

ภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างการระบาดโควิด-19 ซึ่งกังวลกันว่าจะทำให้ผู้คนประสบความเครียดจนนำไปสู่แนวโน้มโรคทางจิตเวชรุนแรงถึงขั้นจบชีวิต ประเด็นนี้ก็ว่า“น่าวิตก”แล้ว ผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจที่หลายครอบครัวต้องเผชิญ  กำลังกลายเป็นประเด็นน่าหนักใจมากขึ้น

โดยเฉพาะผลลัพธ์ฆ่าตายตัวในรูปแบบ“ยกครัว” ซึ่งมีความซับซ้อนที่น่า“ตื่นตัว”และควรหยิบยกมาวิเคราะห์ เพื่อยับยั้งเหตุการณ์ซ้ำรอยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]