@ ปรากฏการณ์ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะ ครม.เดินทางมาประชุมสัญจร ที่ จ.กระบี่ เพื่อเช็กคะแนนเสียงของ “คนปักษ์ใต้” ว่ายังรัก “ลุงตู่” หรือไม่ พร้อมทั้งรับฟังขอเสนอ “โน่น, นี่, นั่น” ของตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่ โดยมีการ “โปรยยาหอม” จาก “นายกรัฐมนตรี” ให้ความหวังทั้งหมด ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ ก็ให้ดูฐานะ “การเงินการคลัง” ของประเทศ ถ้าระบบ “การเงินการคลัง” อยู่ในอาการ “ยอบแยบ” อย่างที่เห็น “บ่จี้” แม้แต่จะจ่ายค่า “ประกันราคาข้าว” การตกปากรับคำของ “นายกรัฐมนตรี” ก็เป็นเพียงเรื่องของ “ลมปาก” ที่ ไม่เป็นจริง…แต่ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ภาคใต้ ณ วันนี้ คนส่วนหนึ่งยัง “เทใจ” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะโครงการ “แจก-แถม” ที่โดนใจชาวบ้าน โดยเฉพาะเรื่อง บัตรสวัสดิการ และ “คนละครึ่ง” ที่เข้าถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน…

@ เปรียบเทียบกับ โครงการประกันราคาปาล์ม และประกันราคายาง ของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ควบตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีพาณิชย์ ที่คุยว่าสามารถทำให้เป็น “ยุคทอง” ของ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ขายลูกปาล์มสดได้กิโลกรัมละ 9 บาทกว่า กลับมีผู้ “ชื่นชม” เพียงน้อยนิด…แต่ถูกโจมตีจากคนส่วนใหญ่ ที่ต้องใช้น้ำมัน “ดีเซล” แพง เพราะมีการเอา “ไบโอดีเซล” ที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน ที่มีราคาแพงกว่า น้ำมันดีเซล ไปเป็นส่วนผสม จนทำให้ราคาน้ำมันดีเซลแพงกว่าราคาจริง เป็นการช่วยเกษตรกรผู้ทำสวนปาล์ม 5-6 จังหวัด แต่สร้างความเดือดร้อนให้คนใช้น้ำมันทั้งประเทศ ผิด-ถูก คิดกันเอง….ไม่เถียงว่า เรื่องการเอา “ไบโอดีเซล” ไปเป็นส่วนผสมน้ำมันดีเซล เป็น “ยุทธศาสตร์” เป็น นโยบาย “พลังงาน” แต่ในสภาวะที่ประเทศไทย คนส่วนหนึ่ง “จนกันทุกหย่อมหญ้า” ราคาสินค้าปรับขึ้น แม้แต่ “ข้าวราดแกง” ก็ปรับราคาอีกจานละ 5 บาท ถ้า หยุดการใช้ “ไบโอดีเซล” ไปเป็นสวนผสมของน้ำมันดีเซล จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ที่ภาคการผลิต ภาคการเกษตร และคนส่วนใหญ่ต้องใช้ ราคาถูกลงได้หรือไม่ เพราะถ้าน้ำมันดีเซลถูกลง ก็ควรจะดำเนินการ… ส่วนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ถ้าราคาปาล์มสดจะถูกลงกิโลละ 2-3 บาท เพื่อช่วยให้น้ำมันดีเซลถูกลง เพื่อช่วยคนส่วนใหญ่ ก็ต้องเสียสละ เพราะต้องยอมรับว่า ราคาปาล์มสดกิโลกรัมละ 9 บาท เป็นราคาที่ “โอเวอร์” เพราะ ปกติ ปาล์มน้ำมัน กิโลกรัมละ 6 บาท เกษตรกรชาวสวนปาล์มก็ไม่เดือดร้อนแล้ว…

@ วันที่ “มาม่า” ซองละ 6 บาท แต่ข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 5 บาท คนที่ “รับประทานข้าว” มีคำถามถึง ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ ว่า เมื่อ “ข้าวเปลือก” ราคาถูก แล้วทำไม “ข้าวสาร” จึงแพง และยังขึ้นราคา อ้างค่าขนส่งแพงขึ้นเพราะน้ำมันแพง ท่านบริหารประเทศกันอย่างไร ที่สินค้าบริโภคอุปโภค จึงไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง…. วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ มีเพียง นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่ ชูนโยบายเรื่อง แจกโฉนดที่ดิน ให้ชาวบ้าน “เหนือจดใต้” ที่ได้รับเสียงชื่นชม นอกนั้น “บ่มิไก๊”….อย่าเพิ่งจบนะ สำหรับคดีขโมยรังนก ที่ เกาะสี่เกาะห้า ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง แม้ว่าตำรวจจะจับกุมผู้ทำความผิดได้แล้ว 38 คน ที่มีทั้ง ตำรวจ, ปกครอง, ป่าไม้, อส. และ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งนับจำนวนแล้วมากกว่า “ชาวบ้าน” ที่ถูกจับในข้อหา “เก็บรังนก” ที่ถูกว่าจ้างมา สิ่งที่ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. (สส.) ต้อง “สะสาง” ต่อคือ คดีนี้ ยังไม่ได้สาวถึง “นายทุน” ผู้รับซื้อ “ของโจร” ซึ่ง ปกติการทำคดี เมื่อจับผู้ขโมยได้ จะต้องสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้รับซื้อ “ของโจร” แต่คดีขโมยรังนก ไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องนี้…และประเด็นที่ 2 มีการแจ้งข้อหา ข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับ พ.ต.อ. จนถึง “นายดาบ” มีการแจ้งข้อหาฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ “นายอำเภอ” จนถึง อส. และมี ป่าไม้อำเภอร่วมด้วยอีก 2 นาย แต่วันนี้ ผู้ถูกกล่าวหา หรือ “ผู้ต้องหา” บางส่วน ยังรับราชการอยู่ในตำแหน่งเดิม ในส่วนของ ฝ่ายปกครอง กู้เกียรติ วงค์กระพันธ์ุ ผวจ.พัทลุง ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง และ คดีขโมยรังนก ไม่ควรจะจบแบบ “หัวมงกุฎท้ายมังกร” แบบนี้….

@ อีกเรื่องที่ “สั่นไหว” กระบวนการยุติธรรม คือเรื่องของ นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ “เสี่ยโจ้” พ่อค้าน้ำมันเถื่อนในอ่าวไทย ที่มีคำถามจากสังคมว่า 14 คดี ที่ “เสี่ยโจ้ ปัตตานี” ถูกจับกุม กระบวนการ “ยุติธรรม” ทำกันอย่างไรคดีถึงขาดอายุความ และ “สั่งไม่ฟ้อง” เกือบทั้งหมด เหลือที่ยังเป็นคดีอยู่แค่ 2 คดี และมีข้อสังเกตว่า คดีที่เกี่ยวกับ “น้ำมันเถื่อน” 1 คดี ที่ จ.สงขลา และ คดีปลอมดวงตราประทับ หรือปลอมแปลงเอกสาร เป็นคดีที่ “ทหาร” หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้จับกุม ที่เป็นคดีที่ไม่ถูก “ยกฟ้อง” หรือ “ขาดอายุความ”… ที่สำคัญหลังจากที่ “เสี่ยโจ้” ถูกจับกุม โดยตำรวจกองปราบฯ หรือ สอบสวนกลาง เมื่อนำส่ง “อัยการ” พนักงานอัยการต้องปล่อยตัว เพราะตรวจสอบไม่พบว่ามีการหนีคดี ทั้งที่มีคดีที่ ศาล จ.ปัตตานี พิพากษาแล้วให้จำคุก 1 ปี 9 เดือน ในความผิด ฐานปลอมแปลงเอกสารทำไมคดีความที่เกิดกับ “เสี่ยโจ้” จึง “ทะแม่งๆ” ไปหมด ไม่เหมือนกับคดีที่เกิดกับ ตาสีตาสา…. หรือ ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน “ยิ่งใหญ่” เป็น “ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” ที่ “แบ่งปัน” กันอย่างทั่วถึง…

@ มีตัวอย่างที่ “บ่งชี้” ให้เห็นถึง “อิทธิพล” และความยิ่งใหญ่ของ ขบวนการน้ำมันเถื่อนในภาคใต้ ที่ พ.ต.ท.ยงยศ เทียมประชา อดีต รอง ผกก.หน.สภ.สุคิริน จ.นราธิวาส สมัยที่เป็น สวส.สภ.เมืองสตูล ทำการจับกุม “นายทุนใหญ่” ที่ค้าน้ำมันเถื่อนกลางทะเลอันดามันที่ จ.สตูล หลังการจับกุม ถูกใช้อิทธิพล กลั่นแกล้ง ย้ายไปอยู่พื้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ถูก “นายทุน” ฟ้องในข้อหา ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ในการต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา ให้เป็นผู้ชนะคดี และให้จ่ายรางวัลนำจับ ให้ยึดเรือ รถขายทอดตลาด เพื่อนำเงิน “เข้าหลวง” แต่จนป่านนี้ 20 กว่าปีผ่านไป พ.ต.อ.ยงยศ เทียมประชา วันนี้อายุ 80 กว่าปี เงินรางวัลนำจับ ทั้งจากการขายน้ำมันของศุลกากร และการขายเรือเดินทะเล 2 ลำ และ รถบรรทุกน้ำมัน 1 คัน ยังไม่ได้รับ ล่าสุดเมื่อกลางปี 2564 มีการร้องทุกข์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมฉบับที่ 3 แล้วที่ได้ส่งให้ นายกรัฐมนตรีในเวลา 2 ปี ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่เพียงคำว่า “ได้รับเรื่องแล้ว” แต่ทุกอย่างเงียบๆ และเป็นอย่างนี้มาตลอด 20 กว่าปี เชื่อแล้วยังว่า ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในภาคใต้ มีอิทธิพล และยิ่งใหญ่เหนือกฎหมายจริงๆ….. ล่าสุดมีการสั่งการจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้ พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 สอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ถือเป็นงานหนักของ “บิ๊กเขียว” เพราะตั้งแต่มารับตำแหน่ง ต้องทำหน้าที่ “ล้างก้น” ให้ คนอื่นๆ ตั้งแต่เรื่อง พ.ต.ต. เรียกส่วย ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เรื่อง ตำรวจ ร่วมขโมยรังนก ที่ จ.พัทลุง นี่ต้องเจอเรื่อง “เสี่ยโจ้” เข้าไปอีก…..

@ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดลงเป็นที่น่าพอใจในหลายพื้นที่ เช่นที่ จ.ยะลา ซึ่งยังต้อง ดูแล และ ใช้มาตรการเข้มงวดเช่น พื้นที่ อ.เบตง ชายแดนไทย-มาเลเซีย เมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่ยังต้อง “คุมเข้ม” เพื่อรับการเปิดด่านพรมแดนของประเทศมาเลเซีย ในต้นปี 2565 ซึ่ง เอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้ “บูรณาการ” กับทุกฝ่ายในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เชื่อว่าทำได้สำเร็จก่อนถึงวันสิ้นปี….ส่วนที่ จ.นราธิวาส ตัวเลขผู้ติดเชื้อในครัวเรือนเริ่มลดลงเหลือ 200 กว่าคน เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว ถ้ารักษาตัวเลขให้น้อยลงได้ทุกวัน การค้าชายแดนจะกลับมาสร้าง ความ อยู่ดีกินอิ่ม ให้กับคนในพื้นที่อีกครั้ง…ส่วนที่ จ.ปัตตานี ยังเป็นพื้นที่น่าหนักใจ เพราะแม้ว่าหลายหน่วยงานจะ ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการฉีด “วัคซีน” อย่างเต็มที่ แต่ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ ก็คงต้องถามไปยัง แวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดปัตตานีว่า ผู้นำศาสนา ในพื้นที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ในการช่วยเหลือ หน่วยงานของรัฐ สร้างความรับรู้และความเข้าใจกับคนในพื้นที่แล้วยัง….

@ ส่วนที่ยังน่าหนักใจ คือ จ.สงขลา เพราะผู้ติดเชื้อยังอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศทุกวัน สาเหตุวันนี้มาจากการติดเชื้อในชุมชน ในครัวเรือน สิ่งที่ต้องถามถึง ผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหา คือ ได้มีการ “บูรณาการ” เพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ อำเภอ ตำบล รอบนอก กับ ท้องที่ ท้องถิ่น แบบไหน เพราะ ท้องที่ ท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการร่วมมือเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ถ้าเอาแค่ “สั่งการ” ด้วย “เอกสาร” แบบ ราชการ การแก้ปัญหาให้สำเร็จคงต้องใช้เวลา….แผนงานของปีงบประมาณ 2565 ของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) มีการเน้นในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการแก้ปัญหา กลุ่มคน ”เปราะบาง” และการจัดทำบัญชี “คนยากจน” แบบใหม่ ด้วยการค้นหาคนยากจนใน 5 ประเภท เช่น จนเพราะไม่มีอาชีพ จนด้านการศึกษา จนด้านสุขภาวะ จนด้านเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ โดยมีการทำข้อมูลแบบ “เจาะลึก” เป็นรายบุคคล มีข้าราชการของ ศอ.บต.รับผิดชอบ 1 คน ต่อหนึ่งครัวเรือนและ งานของ ศอ.บต. จะเน้นในเรื่องการ “วิจัย” และ “นวัตกรรม” เพิ่มขึ้น ซึ่ง พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ปี 2565 จะต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้…. 

@ วันก่อนในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. อาซิส เจ๊ะมามะ กรรมที่ปรึกษา ฝากถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาให้ทราบว่า ที่ จ.นราธิวาส สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่มีทั้ง ผู้อำนวยการ และไม่มีทั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ทั้งที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนามีจำนวนมาก และกำหนดการเปิดเรียนก็ใกล้มาแล้ว แต่ผู้กำกับดูแลโรงเรียนเอกชนฯ ไม่มี เหมือน “เรือ” ที่ไม่มี “หางเรือ” วันนี้การศึกษาที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่อง “หมักหมม” เต็มไปหมด แม้จะมี กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า ตั้งอยู่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย ก็คงฝากให้เป็น “การบ้าน” ของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. อีกสักเรื่อง ในการ “บูรณาการ” กับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้กับการศึกษาในพื้นที่….

@ ด้วยความเคารพ แต่ต้องเขียนถึง บรรทัดนี้ฝากถึง นพ.โตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) ณ วันนี้ มีกลุ่มบุคคล อ้างว่ามาจาก “ดีเอสไอ” เพื่อเรียกเก็บ”ส่วย” จาก ธุรกิจผิดกฎหมายในพื้นที่ภาคใต้ เหล้า บุหรี่ น้ำมันเถื่อน เท็จจริง อย่างไร ใคร แอบอ้าง ต้องให้ความ “กระจ่าง” กับสังคม เพราะในอดีต “ดีเอสไอ” ไม่เคยมีพฤติการณ์อย่างนี้ อย่างไรเสียก็เหลือ หน่วยงานไว้สักหน่วยเพื่อให้เป็นที่พึงของประเทศบ้าง….

@ วิทยาลัยชุมชนยะลา ยุคที่ วิชาพร ชินประพัทธ์ เป็นผู้อำนวยการ และ กิตติ กิตโชติวัฒนา เป็นประธานสภาวิทยาลัยชุมชน กลายเป็น “วิทยาลัยชุมชน” ที่เข้าไปมีบทบาทในการ พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของ คนในพื้นที่ ให้ “อยู่ดีกินดี” สินค้าหลายตัว ที่เป็นของ “ชุมชน” ทั้ง เรื่องของ สมุนไพร เรื่องของ ข้าว และ เสื้อผ้า ถูก ออกแบบ “ดีไซน์” กลายเป็นที่ต้องการของตลาด จดทะเบียนลิขสิทธิ์วันไหน ทีมงานอาจารย์ผู้วิจัย มีโอกาสรับทรัพย์ ล่าสุด ศอ.บต. มอบงานใหญ่และหนักให้ วิทยาลัยชุมชนยะลา อีก 1 งาน คือ เป็นผู้ฝึกอาชีพให้กับกลุ่มคน “เปราะบาง” เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนด้อยโอกาสใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้….

@ บรรทัดนี้ ยินดีกับ พ.ต.อ.วรวุฒิ กิตติศักดิ์รณกรณ์ รอง ผกก.ป. สภ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่ได้เลื่อนขั้นเป็น ผกก.สภ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส คนมีฝีมือ ถ้ามีมวลชนด้วย ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง….และ ผบ.ตชด.43 คนใหม่ คือ พ.ต.อ.ยงศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เลื่อนจาก รองฯ ขึ้นมา รับตำแหน่งเสร็จทำงานได้เลย เพราะรู้พื้นที่ รู้ปัญหา และรู้ว่า ลูกน้อง คนไหน ใช้อะไรได้ ใช้อะไรไม่ได้ งานหนักคือ “คนเถื่อน” ที่หลบหนีจากมาเลเซียเข้าไทย และ “คนเถื่อน” ที่หลบหนีจากไทยเข้าไปมาเลเซีย ถ้าควบคุม “นายหน้าค้าคน” ได้ ก็ไม่มีอะไรหนักใจ….

@ ทุกอย่างต้องมี “ค่าจ้าง” พล.ต.อุทิศ อนันตนานนท์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 มอบข้าวสาร 3,000 กิโลกรัม ให้กับ ภิรมย์ นิลทยา ผวจ.ยะลา เพื่อเป็น “รางวัล” ให้ผู้ที่มารับการฉีด “วันซีนโควิด-19” เฮ้อ… เหนื่อยใจ แม้กระทั่งการรักษาชีวิตของตนเอง ยังต้องมี “ค่าจ้าง” หรือ “รางวัล” ฉะนั้น อย่าแปลกใจ ที่การเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ 28 พ.ย.นี้ จะมีเงินสะพัด นับพันล้าน ในประเทศไทย และจงอย่าแปลกใจ ที่ นักการเมือง เมื่อเข้าไป บริหารท้องถิ่น ต้องมีการ “ชักหัวคิว” ในการ “จัดซื้อจัดจ้าง” เพราะ การได้เข้าไปบริหารท้องถิ่น พวกเขา “นักเลือกตั้ง” ทั้งหลาย ต่างใช้ “เงิน” แลก “คะแนนเสียง” มาทั้งนั้น เพียงแต่ต่างกันที่ มาก หรือ น้อย เท่านั้นเอง…และพบกันใหม่วันศุกร์หน้าครับ 

———————————————————

ไชยยงค์ มณีพิลึก 

เปิดท่าเทียบเรือ… พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเทียบเรือปากเมง เปิดประตูสู่อันดามัน ณ ท่าเทียบเรือปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมี ขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง นำข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รายงานตัวเพื่อให้การต้อนรับ ณ ท่าเทียบเรือปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง 

ที่ดินคือชีวิต…  นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ จ.พังงา เป็นประธานในการมอบเอกสารสิทธิที่ดิน ให้กับประชาชน ต.บ้านท้ายช้าง อ.มือง จ.พังงา ตามโครงการ “มอบโฉนดที่ดินทั่วไทย” โดยมี นิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน และ ประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมด้วย 

กฐินสามัคคีแม่ทัพ…  พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานทอดกฐินสามัคคี สืบทอดประเพณีทางศาสนาพุทธ ณ วัดศรีพัฒนาราม ( บ้านคล้า) ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา พร้อมด้วยคุณคนึงนิตย์ ศรีรักษ์ ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากองทัพภาคที่ 4 ประชาชน พ่อค้า ข้าราชการ 

กฐินสามัคคี…   พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานทอดกฐินสามัคคี เพื่อร่วมทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ณ วัดธารากร (บางน้อย) ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พร้อมด้วยพุทธบริษัทผู้มีจิตศรัทธาได้เงิน 1.9 ล้านบาทเศษ 

ประชุมร่างระเบียบ…   พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้าพบหารือการร่างระเบียบช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 

ติดตามปัญหาน้ำท่วม..   เจษฎา  จิตรัตน์ ผวจ.สงขลา ลงพื้นที่ตำบลวัดสนธิ์อำเภอระโนดพร้อมด้วย ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.เขต 4 สงขลา ไพเจน มากสุวรรณ นายก อบจ.สงขลา ไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอระโนด กระจายศักดิ์ ศรีสงค์ นายกเทศบาลบ่อตรุ และพร้อม ปภ.สงขลา เพื่อติดตามปัญหาน้ำท่วมและรับฟังแนวทางแก้ไขจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปแก้ไขต่อไป 

มอบข้าวสาร…   พล.ต.อุทิศ อนันตนานนท์ รองแม่ทัพภาค 4 /รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มอบข้าวสาร 3,000 กิโลกรัมให้ ภิรมย์ นิลทยา ผวจ.ยะลา เพื่อแจกจ่ายให้กับ ประชาชนที่มารับการฉีดวัคซีน ตามโครงการ “รักยะลา”ที่ บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด 

มอบถุงสู้ภัย…   ต่วนอับดึลเลาะ ดาโอ๊ะมารียอ อดีต ส.ว.จ.ยะลา รับมอบถุงสู้ภัยโควิด-19 จาก ณัฏฐ์กรณ์ บุญโนภาคย์ นายอำเภอรามัน จ.ยะลา จำนวน 80 ถุง เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ป่วย ที่กักตัวรักษาตนที่บ้าน 

จิตอาสา…   พ.ต.ท.ต่อพันธุ์ ปุสันเที๊ยะ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรยะรม อ.เบตง จ.ยะลา นำกำลังชุดจิตอาสาร่วมกับ ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ต.ยะรม ร่วมกันทำความสะอาด ดินโคลนสไลด์ ทับเส้นทางสัญจรของชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ทั้งนี้เกิดจากฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อผู้สัญจรได้ 

ร่วมบุญกฐิน…  โยธิน  ทองเนื้อแข็ง สจ.เขต อำเภอกระแสสินธุิ์ ร่วมทำบุญงานทอดกฐินสามัคคีวัดแหลมบ่อท่อ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ และวัดใหญ่ อ.ระโนด จ.สงขลา ประจำปี 2564 เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป 

ศูนย์หม่อนไหม…   ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดเส้นทางหม่อนไหม ไม้แก่นโมเดล ที่ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ณ บ้านไม้แก่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี โดยมี ดร.พัชรินทร์ โพธิ์ทอง ผอ.ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติกล่าวรายงาน 

กำลังใจ…   ธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอเมืองยะลา พร้อมด้วยทีมงาน ลงพื้นที่ สถาบันศึกษาปอเนาะอิสลามศาสน์ ดารุสลาม หมู่ที่ 3 ต.ตาเซะ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เข้าเยี่ยมให้กำลังใจบาบอสถาบันปอเนาะอิสลามศาสน์ดารุสลาม ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับสถาบันปอเนาะ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการฝ่าฟันวิกฤติโควิดต่อไปได้ 

จับไม่หมด…   พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.ฉก.นราธิวาส พร้อมด้วย พล.ต.ต.แวสาแม สาและ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส และ ประอรรัตน์ รัตนพรสมปอง ผอ.ส่วนควบคุมฯศุลกากรตากใบ ร่วมแถลงข่าว การตรวจยึดบุหรี่หนีภาษี มูลค่ากว่า 1 ล้านบาทในโกดัง ชุมชนท่าแพรก ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยจับเจ้าของสินค้าไม่ได้ตามเคย 

แสดงความยินดี…   อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ กรรมการสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย, ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำจังหวัดยะลา ต้อนรับและแสดงความยินดีกับ ฐานิตา ร่มเย็น ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา (คนใหม่) เพื่อเป็นกำลังให้กับ ผอ.สวท.ยะลา ในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำข้อมูลข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป 

มอดไม้…   พล.ต.ต.สันทัด วินสน ผบก.ภ.จว.ตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบการโค่นไม้พยุง ในสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ต.บางหมาก อ.กันตัง เพื่อหาหลักฐานในการติดตามคนร้ายมาลงโทษต่อไป 

ช่วยชุมชน…   จำรูญ วงศ์กระจ่าง อาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ นำคณะลงพื้นที่ ต.บ้านแค อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อให้ความรู้กับชุมชนในการทำจุลินทรีย์น้ำ เพื่อลดต้นทุนด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และ สิ่งแวดล้อม ตามโครงการชีววิถีชุมชน 

เชิญชวนไปเลือกตั้ง…   วิโรจน์ จงอุรุดี  ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลยะรม อ.เบตง.จ.ยะลา ปฏิบัติหน้าที่นายก อบต.ยะรม นำพนักงาน เดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สมาชิก อบต. ในวันที่ 28 พ.ย.นี้