ปัจจุบันสวัสดิภาพสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับโรคระบาดหลายโรค ที่อาจจะมีจุดกำเนิดจากสัตว์ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019– COVID-19) ซึ่งการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัสดังกล่าวอาจเกิดจากการค้าสัตว์หลายชนิดพันธุ์ที่โดนกักขังในพื้นที่แออัดและขาดการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งต่อโรค Zoonotic หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ เช่น โรค MERS ในปี พ.ศ. 2555 ก็มีต้นกำเนิดจากค้างคาวและแพร่ไปอูฐ ก่อนมายังมนุษย์ รวมถึงโรค SARS-COV ในปี พ.ศ. 2546 เกิดจากค้างคาวไปสู่ชะมดก่อนมาสู่มนุษย์ นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่า ในอนาคตการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ครั้งต่อไปของโรคอุบัติใหม่ก็จะเกิดจากการปฏิสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า โดยมีการคาดการณ์ว่า ยังมีเชื้อไวรัสที่ยังไม่สามารถระบุชนิดหรือสายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจพัฒนาเป็นเชื้อก่อโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ได้

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2537 หรือ 28 ปีที่แล้ว สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ TSPCA (Thai Society for the Prevention of Cruelty to Animals) ได้จัดตั้งขึ้นโดยมี คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นนายกผู้ก่อตั้งและกลุ่มบุคคลที่มีความรักและเมตตาต่อสัตว์ ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่น ในอันที่จะหามาตรการยับยั้งป้องกันการทารุณกรรมและต้องการพัฒนาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์อันดี ไม่ให้นานาอารยประเทศถือเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศได้ โดยปัจจุบันมี คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ และผู้อุปถัมภ์หลักอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา 28 ปีที่ผ่านมา TSPCA ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมเชิงสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น การเป็นผู้นำภาคประชาชนร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่เป็นพันธมิตร ผลักดันพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จนเป็นผลสำเร็จ อีกทั้งได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการขอมติมหาเถรสมาคม ที่ 410/2561 ในการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด โดยกำหนดให้เขตพื้นที่วัดเป็นเขตห้ามซื้อขาย และปล่อยสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีการจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกผ่านภาพยนตร์สั้นรวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น “ทำบุญ ไม่ทารุณสัตว์” “ปล่อยนก บุญหรือบาป?” และ “รักไม่ปล่อย” รวมถึงจัดโครงการ รักสัตว์ในโรงเรียน นับเป็นองค์กรภาคเอกชนแห่งแรก ที่ริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดย คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น นำกิจกรรมโครงการ “รักสัตว์ในโรงเรียน” ออกเผยแพร่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่สังกัดภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเมื่อ 11 กันยายน 2557 ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อบูรณาการการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนลูกเสือในระดับต่าง ๆ ภายใต้กฎลูกเสือข้อ 6 “ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์” เป็นต้น

ธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์

สำหรับในปีถัดไป TSPCA จะยังคงยึดมั่น ทุ่มเท เร่งงานเก่า ก่องานใหม่โดยการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ รณรงค์ยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย การเสนอนโยบาย แผน มาตรการและแนวทางควบคู่นอกจากการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจริงจัง ผ่านทางคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์และเครือข่ายภาคประชาสังคม การสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การรักเมตตาสัตว์อย่างมีสติใช้ปัญญาและรับผิดชอบ ผ่านการจัดการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

สำหรับการขับเคลื่อน TSPCA ตลอด 28 ปี นอกจากทรัพยากรทางการบริหารแล้ว นโยบายอันสู่แนวทางการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากกำลังความคิดจากตัวบุคคล ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ นั้นมีความสำคัญมาก เช่น รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ Chairperson of  SEAOHUN Executive Board ผู้ได้รับรางวัลระดับโลกด้านสวัสดิภาพสัตว์ “WORLD VETERINARY ASSOCIATION ANIMAL WELFARE GLOBAL AWARDS 2019” รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการในคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.เดวิด ไลแมน ประธานกรรมการและผู้บริหารสูงสุดด้านวัฒนธรรมองค์กร ของสำนักกฎหมายติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อดีตประธานหอการค้าอเมริกาในประเทศไทย ผู้ก่อตั้งและประธานคนแรกของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย รศ.นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ อดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ศ.สพญ.อัจฉริยา ไศละสูต คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ และอดีตเลขาธิการองค์การสมาพันธ์สมาคมสัตวแพทย์แห่งเอเชีย และนายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นสพ.อลงกรณ์ มหรรณพ อดีตที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาและประธานศูนย์สวัสดิภาพสัตว์ป่า คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ อดีตเลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย และผู้รวบรวมรายชื่อ 12,000 คน ในการนำเสนอร่างกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ภาคประชาชนซึ่งมีฉบับเดียวต่อรัฐสภา ว่าที่ ร.ต.สุพล ดวงแข รองประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอดีตกรรมการบริหารศูนย์ความหลากหลาย ทางชีวภาพ (ศลช.) สำนักนายกรัฐมนตรี นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เคยได้รับตำแหน่ง Wildlife Champion ในฐานะ “ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก” จากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐ หรือ USAID (U.S. Agency for International Development) คุณเจษฎา อนุจารี อดีตอุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นสพ.ยันต์ สุขวงศ์ นายกสมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.พลเดช วรฉัตร อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศศรีลังกาและประเทศมัลดีฟส์ คุณอมร ชุมศรี คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รศ.ดร.นสพ.ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล คุณอภิวัติ โพธิสิทธิ์ นักสื่อสารมวลชนอาวุโส และ คุณปัทมา สารีบุตร จากบริษัทเกษมกิจ จำกัด องค์กรที่สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด บริษัท สวอน อินทัสทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด Cape & Kantary Hotels บริษัท คิมแพ็ค จำกัด เป็นต้น

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) จึงเป็นองค์กรการกุศล ที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายในทุกมิติเป็นองค์กรที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มุ่งหวังหารายได้หรือผลกำไรมาแบ่งปันกัน ตลอด 28 ปีที่ผ่านมา จึงหวังเพียงเป็นจุดเริ่มต้นที่มุ่งมั่นว่าการดำเนินการจะจุดประกายทางความคิดให้แก่สังคม ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์และร่วมบูรณาการ หามาตรการทางออกในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามแนวทางสันติวิธี เพื่อการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ สู่สวัสดิภาพคน ที่ยั่งยืนต่อไป.