ผลพวงหลังจากกรมปศุสัตว์ออกมายอมรับเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 65 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยตรวจพบสุกรใน จ.นครปฐม ติดเชื้อ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ ASF ทำให้ต้องประกาศเป็น เขตโรคระบาด พร้อมต้องแจ้ง องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ให้รับทราบ นอกจากจะส่งผลต่อหมูไทยเกือบทั้งระบบไปเรียบร้อย ไม่ว่าจะราคาหมูที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงการส่งออกหมูไปต่างประเทศ

บรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย หรือฟาร์มระดับกลาง ต้องปิดตัวทยอยเลิกกิจการจำนวนมาก ที่สำคัญแม่พันธุ์หมู และลูกหมู ก็ส่อเค้าจะขาดแคลนกลายเป็นอีกวิกฤติปัญหาในอนาคต!!

รัฐต้องงัดมาตรการแก้ไขรัดกุม

ทีมข่าว 1/4 Special Report ยังคงตามติดผลกระทบหลังจากไทยตรวจพบโรค ASF ได้พูดคุยกับ ผศ.นสพ.การันต์
ชีพนุรัตน์
คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การแพร่ระบาดของอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) พบในจีนมาตั้งแต่ปี 2561 ต้นตอของโรค ASF มีการติดต่อได้หลายทาง โดยเชื้อสามารถฝังตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่นในอาหารสัตว์ หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ การแพร่เชื้อเกิดจากการสัมผัสกับสุกรป่วย และการแพร่เชื้อโดยเห็บอ่อน ที่พบมากในต่างประเทศ โรคนี้แม้ไม่มีการกลายพันธุ์ แต่เมื่อหมูเป็นโรคแล้ว ยังไม่มีวัคซีนในการรักษา ดังนั้นหากตรวจพบว่ามีเชื้อจะต้องทำลายสุกรอย่างเดียว ต่อให้มีการรักษาหมูจนหายกลับมาก็ยังสามารถเป็นตัวแพร่โรคได้ตลอดชีวิต เพราะตอนนี้เรายังไม่มียารักษาโรคอย่างได้ผล เพราะเชื้อเมื่อเข้าไปในร่างกายของหมูจะส่งผลต่อระบบอาหาร และระบบทางเดินหายใจ

 โดยปกติเมื่อหมูได้รับเชื้อจะป่วยมีไข้สูง ที่ผิวหนังจะมีตุ่มเลือดออก ถ้าติดในแม่พันธุ์เมื่อตั้งท้องจะแท้งลูก ส่วนอัตราการตายเมื่อเป็นโรคจะอยู่ที่ 30–100% แต่ถ้ามีการติดเชื้อในลูกสุกรจะมีอัตราการตาย 80–100% ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่ตัวเชื้อต่าง ๆ จะสามารถฝังตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน ดังนั้นจึงมีมาตรการ หากพบหมูติดเชื้อในฟาร์ม หลังจากทำลายหมูตัวสุดท้ายแล้วต้องพักโรงเรือน 12 สัปดาห์ หรือภายในระยะเวลา 3 เดือน ถึงจะสามารถนำหมูมาเลี้ยงในพื้นที่ใหม่ได้ แต่สิ่งสำคัญตอนนี้ คือ การเคลื่อนย้ายหมู ที่ต้องมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นจะต่างจากเดิม ต้องแจ้งต้นทางกับปลายทาง นอกจากนี้จะต้องมี การเจาะเลือดหมู ตรวจ เพื่อหาว่าหมูที่จะนำเข้าหรือออกจากฟาร์มปลอดจากเชื้อจริง ๆ ซึ่งกระบวนการนี้ส่งผลต่อผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีต้นทุนในการตรวจประเมินสูงขึ้น

มาตรการที่เข้มข้นนี้ต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งน่าเห็นใจว่า เกษตรกรรายย่อยหลายรายตอนนี้ต้องแบกรับต้นทุนค่าอาหารสัตว์และค่าใช้จ่ายในการจัดการต่าง ๆ อยู่แล้ว ถ้าต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นอีก เกษตรกรหลายรายจะแบกภาระต้นทุนไม่ไหว แม้ตอนนี้ทางภาครัฐ จะให้นโยบายในการเลี้ยงหมูใหม่กับเกษตรกร แต่ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในเกษตรกรรายย่อย ที่ถ้าต้องมาลงทุนทำโรงเรือนใหม่ให้เป็นระบบอีแวป (EVAP) ก็จะต้องใช้เงินลงทุนใหม่หลายล้าน

เกษตรกรรายย่อยกระทบหนัก

ผศ.นสพ.การันต์ มองด้วยว่า ตอนนี้บ้านเรามี เจ้าของฟาร์มใหญ่ ที่เลี้ยงหมูแบบเป็นธุรกิจเต็มตัว กับ คนเลี้ยงรายย่อย ที่มักเรียกว่า “ลูกเล้า” ซึ่งมีการประกันราคาขาย แต่ต้องรับลูกพันธุ์ และอาหาร เมื่อเลี้ยงหมูจนโตแล้วจึงขายกลับคืนให้นายทุน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยที่มีการประกันราคา ส่วนใหญ่ยังเลี้ยงในระบบโรงเรือนธรรมดาอยู่ส่วนมาก เกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ผลิตอาหารเองในการเลี้ยงหมู แต่จะซื้ออาหารสำเร็จรูปตามร้าน หรือหัวอาหารที่จะมีบริการส่งมาเป็นรถบรรทุก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อรองเรื่องราคาของวัตถุดิบได้ ยกเว้นกลุ่มที่มีสมาชิกเยอะและมีการบริหารจัดการแจกจ่ายหัวอาหารกันเองในกลุ่ม แต่ระบบนี้ก็มีน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากต้นทุนของการเลี้ยงหมูส่วนใหญ่อยู่ที่อาหาร ถ้าเกษตรกรบริหารจัดการต้นทุนนี้ได้เอง จะทำให้มีต้นทุนในการพัฒนาโรงเรือนและสิ่งอื่นมากขึ้น

น่าสนใจว่า การแพร่ระบาดของโรค ASF ในครั้งนี้ อาจส่งผลต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระยะยาว ที่อาจทำให้ฟาร์มใหญ่ ๆ จะเข้ามายึดครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จ โดยเกษตรกรรายย่อยค่อย ๆ เลิกกิจการไป และอาจจะทำให้คนไทยต้องบริโภคหมูแพงขึ้น เพราะการที่ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ครอบครองตลาดได้ ย่อมสามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ตามที่เขาต้องการ

จากการประมาณการคาดว่า โรค ASF จะแพร่ระบาดอยู่ในหมูอีกสักพักใหญ่ เพราะตอนนี้เกษตรกรทำได้เพียงตรวจหา ถ้าเจอก็ต้องทำลายหมูทิ้ง ซึ่งอาจหายไปใน 1–2 ปี แต่ก็มีปัจจัยว่า หลายคนอยากให้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ เพราะถ้าไม่นำเข้ามาราคาเนื้อหมูก็ยังแพงอยู่ และด้วยความที่อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน แต่การรับประทานควรจะต้องปรุงให้สุก

จี้ลุยสำรวจละเอียดระดับอำเภอ

สิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหากรมปศุสัตว์ในระดับอำเภอ จะต้องลงพื้นที่เข้าไปสำรวจอย่างละเอียด หากพบมีการติดเชื้อ จะต้องวางแนวทางป้องกันในพื้นที่ ซึ่งตามกฎหมายจะต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อ อย่าปล่อยให้เล็ดลอดนำมาขายให้กับประชาชน ตัวอย่าง เช่น เกาหลีใต้ เมื่อตรวจพบการติดเชื้อจะทำลายทั้งหมด แม้ไม่ติดเชื้อก็ตาม แต่ของเราจะทำลายเฉพาะตัวที่ติดเชื้อ เนื่องจากการจะเลี้ยงหมูให้ออกลูกได้ค่อนข้างยาก เพราะต้องเลี้ยงถึง 8 เดือน กว่าจะออกลูกให้ได้ ซึ่งใน 1 ปี แม่หมูสามารถออกลูกได้ 2 ครอก และเฉลี่ยแม่หมู 1 ตัว จะออกลูกได้ 20 ตัวต่อปี จึงถือว่าปริมาณหมูในไทยยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

ปัจจุบันตัวเลขยังค่อนข้างสับสน โดยเฉพาะตัวเลขของภาคเอกชนกับภาครัฐ ฝั่งหนึ่งระบุว่ามีหมูที่หายไปจากระบบประมาณ 50% ส่วนผู้เลี้ยงสุกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 2 แสนราย ลดลงเหลือ 8 หมื่นกว่าราย ซึ่งค่อนข้างตรงกันข้ามกับข้อมูลของทางฝั่งภาครัฐ แสดงให้เห็นว่า สถิติต่าง ๆ ก็ควรมีการสำรวจใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากที่สุด

สิ่งสำคัญอีกเรื่องในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐจะต้องจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผล
กระทบ เพื่อนำเงินทุนเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโรงเรือนให้ได้มาตรฐาน พร้อมหาแม่พันธุ์และลูกหมูที่เหมาะสมกับความต้องการมาเลี้ยง เพื่อเป็นการพยุงระบบของเกษตรกรไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต
!!.