การวางเป้าหมายจำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ปี 65 ไว้ที่จำนวน 20 ล้านคน ของรัฐบาล “ลุงตู่” ถือเป็นตัวเลขที่น่าใจหายอย่างยิ่ง

เพราะอย่าลืมว่า เมื่อสิ้นปี 64 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ถือบัตรคนจน มีจำนวน 13.45 ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่า 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นถึง 6.55 ล้านคน อย่างนั้นหรือ?

ขณะที่เมื่อ 5 ปีก่อน ที่เริ่มต้นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในปี 60 มีจำนวนผู้ถือบัตรคนจนประมาณ 11.4 ล้านคน ก่อนที่จะเพิ่มสารพัดคุณสมบัติ เพื่อให้ครอบคลุมทั้งผู้ที่เดือดร้อน และที่เรียกร้อง

นั่นหมายความว่า!! ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่รัฐบาลทุ่มเงินงบประมาณไปกว่า 2 แสนล้านบาท ไม่ได้ส่งเสริมหรือช่วยทำให้ “คนจน” มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือพ้นจนขึ้นมาเลยหรือ?

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ชี้ให้เห็นว่า การกำหนดจำนวน 20 ล้านคน เป็นเพียงแค่การเปิดกรอบเอาไว้เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว น่าจะมีผู้ที่ได้รับบัตรคนจนประมาณ 17 ล้านคน

เหตุผลสำคัญ…เป็นเพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิษของเจ้าไวรัสร้ายโควิด-19 ได้ส่งผลให้คนตกงานจำนวนเยอะมากและไม่มีรายได้ ขณะที่บางส่วนได้ออกไปประกอบอาชีพอิสระกันมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการประมาณการกันว่า เมื่อเปิดลงทะเบียนบัตรคนจนแล้ว จะมีคนเข้ามาขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมด!!! ก็ต้องรอดูของจริงว่าจะมีจำนวนที่แท้จริงเท่าใด

หากย้อนไปดูถึง “วัตถุประสงค์” ที่แท้จริง ของการจัดทำโครงการบัตรคนจน ที่เป็น “เรือธง” ใหญ่ ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ

นอกจากการช่วยเหลือ การบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพแล้ว ยังมีเป้าหมายผลักดันให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรคนจน ต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ต้องมีการสร้างอาชีพ ให้มีงานให้มีรายได้ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความยากจน ไม่ใช่เพียงแค่การนั่ง ๆ นอน ๆ รอรับเงินฟรี ๆ จากรัฐบาล

นั่นคือ… แก่นแท้ ที่แท้จริงของโครงการบัตรคนจน ไม่ใช่เพียงแค่การแจกเงินให้ใช้ฟรี ๆ แล้วแปลงร่างเป็นโครงการ “ประชานิยม” เพื่อเป็นฐานเสียงให้กับรัฐบาล เช่นในปัจจุบัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! หากใครต่อใครในยุคนี้ จะเรียกหาโครงการแจกเงินฟรี ๆ จากรัฐบาล โดยเฉพาะ “คนละครึ่ง” ที่ขึ้นแท่นติดชาร์ตในทุกโพล ว่าเป็น โครงการขวัญใจมหาชนกันทีเดียว

จนลืมไปว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลให้มาโดยผ่านสารพัดโครงการแจกเงิน สุดท้ายแล้ว!! ก็คือเงินที่มาจากภาษีของผู้เสียภาษีนั่นแหละ!!

แปลความง่าย ๆ ก็ เงินของประชาชน” ที่รัฐบาลนำมาแจก  ใช่ว่า “เขา” จะควักเงินจากกระเป๋าตัวเอง ออกมาให้ซะเมื่อไหร่?

กลับมาที่การสร้างงาน!! สร้างอาชีพ!! ตามโครงการบัตรคนจน ที่ก่อนหน้านี้แบงก์ของรัฐอย่างธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้เข้ามารับหน้าเสื่อ ทำการอบรมสร้างอาชีพให้ผู้ถือบัตรคนจน หลุดพ้นจากคนจน

ในขณะนั้นมีผู้ที่ต้องการเข้าโครงการฝึกอาชีพกว่า 4 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้สามารถฝึกอาชีพได้สำเร็จประมาณ 1.7-1.8 ล้านคน หรือเรียกว่า เกือบ 50% ที่มีรายได้เฉลี่ยพ้นเส้นความยากจนที่ปีละ 30,000 บาท และยังมีอีก 3% ที่พบว่ามีรายได้เฉลี่ยเกินกว่า 1 แสนบาท

แม้ตัวเลขของผู้ที่เข้าฝึกอบรม และผลลัพธ์ของการฝึกอบรมจะไม่ใช่ 100% อย่างที่รัฐบาลในสมัยนั้น ต้องการ แต่อย่างน้อย ก็เป็นจุดเริ่มต้น…ของการก้าวข้ามความยากจน

ต่อให้รัฐบาลเข้มงวดในเรื่องของ “เงื่อนไข” ในการได้รับสิทธิบัตรคนจน เพราะกลัวว่าคนจนตัวจริงเสียงจริง จะถูกละเลยและเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ เพราะถูก “คนจนไม่จริง” ลักไก่มาแย่งสิทธิไปครอบครองแทน

เชื่อเถอะ…สุดท้ายจริง ๆ แล้ว ก็ยังมีพวกแอบแฝง เข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทั้งที่ไม่ควรจะได้ แต่ด้วยความเป็น “มนุษย์” ย่อมมีเหตุผลเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว ก็ไม่ว่ากัน

แต่ในแง่ของผู้บริหารประเทศ!! ผู้นำประเทศ!! ควรหันกลับมาดู “เป้าประสงค์” ที่แท้จริงของโครงการ ไม่เช่นนั้นจำนวนคนจน คงไม่ลดลงไปง่าย ๆ แถมอาจเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยซ้ำไป

แม้แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ ดูทิศทางแล้วเริ่มผงกหัวขึ้นมาได้ รายได้ในกระเป๋าอาจเพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่สุดท้ายแล้ว… ถ้ารัฐบาลได้แต่ “แจกเงิน” โดยไม่พัฒนาคน ให้ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง  คนทั้งประเทศก็ต้องแบกรับภาระความเป็นหนี้ต่อไปจนไม่รู้จักจบจักสิ้น!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”