ภายหลังจากในหลาย ๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน กำลังผนึกกำลังหาทางออกวิกฤติโควิด-19 ระลอก 4 ที่เจ้าเชื้อกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) กำลังแพร่ระบาด สร้างความวิกฤติใหญ่หลวงให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้ม ทั้ง 13 จังหวัด ที่จำเป็นต้องใช้มาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์ !   ยอดติดเชื้อใหม่รายวันยังคงนิวไฮต่อไปไม่หยุด วันที่ 21 ก.ค. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่  13,002 ราย เสียชีวิต 108 ราย (ยอดติดเชื้อสะสม 439,447 ราย ผู้เสียชีวิต 3,610 ราย)

เป็นสภาพที่น่าสลดใจยิ่งนัก จากที่เคยเห็นผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตคาบ้าน ก็เริ่มเห็นผู้ติดเชื้อโควิดออกมานอนเสียชีวิตคาถนนเมืองกรุงกลางวันแสก ๆ เรียกว่าต้องนอนให้ออกซิเจนกันกลางถนนจนสิ้นใจ ที่สำคัญคือกว่าจะมีทีมกู้ภัยมาช่วยเก็บศพ ร่างไร้วิญญาณต้องนอนอยู่กลางถนนนานหลายชั่วโมง

จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยโควิดล้น  นอกจากต้องเร่งผุดทั้ง โรงพยาบาลสนาม พร้อมเปิดแนวทาง แยกกักตัวที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) ในกลุ่มอาการสีเขียว ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรง รวมไปถึงโครงการรับตัวผู้ติดเชื้อโควิดฯไป รักษาตัวบ้านเกิด ตามภูมิลำเนาของตนเอง โดยเริ่มประกาศประเดิมนำร่องใน จ.ลำปาง แห่งแรกก่อนและจะค่อยขยายไปทั่วประเทศ ทั้งในภาคอีสาน ภาคกลาง รวมไปถึงภาคใต้ โดยผู้ป่วยโควิดติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช.1330 ตลอด 24 ชั่วโมง

แบ่งเบาภาระพื้นที่กทม.-ปริมณฑล

ก่อนหน้านี้ ทีมข่าว 1/4 Special Report ตามไปเกาะติดสถานการณ์ โครงการรับตัวผู้ติดเชื้อโควิดไป รักษาตัวบ้านเกิด ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมถึงในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่กำลังเร่งจัดทำ รพ.สนามชุมชน CI (Community Isolaton)  หรือ ศูนย์พักคอย ในทุกตำบล ล่าสุดมีโอกาสลงไปดูสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดก็มีโครงการฯนี้เช่นเดียวกันเพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ไล่จาก จ.สุราษฎร์ธานี จัดโครงการ “คนสุราษฎร์ธานี เมืองคนดี ไม่ทอดทิ้งกัน” นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นบนหลักมนุษยธรรม และความชอบธรรมในสิทธิของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้จังหวัดสามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในทางปฏิบัติที่ควบคู่กัน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคัดกรองบุคคลจาก 13 จังหวัดเข้าพื้นที่ นอกจากนี้ยังคงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดคัดกรองโรคอย่างเข้มงวดต่อไป

ด้าน นพ.มนู ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ ภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยโควิดประมาณ 296  เตียง และ รพ.สนามอีก 2 แห่ง (110 เตียง) ยังมีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยได้ สำหรับหลักเกณฑ์การรับผู้ป่วยกลับบ้านคือ จะต้องเป็นผู้ป่วยทำงานอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยมีภูมิลำเนาที่ จ.สุราษฎร์ธานี และต้องมีผลรับรองการตรวจโควิด จากหน่วยงานภาครัฐ หากมีความประสงค์จะเดินทางกลับมารักษาตัวที่บ้าน ก็แจ้งมา ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี หมายเลขโทรศัพท์ 09-9305-9111 ซึ่งทาง สสจ.จะเป็นผู้ประสานกับโรงพยาบาลปลายทาง

ขณะที่ นายนิติศักดิ์ บุญมานนท์ หัวหน้าหน่วยกู้ภัย มูลนิธิกุศลศรัทธาสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในการรับส่งผู้ป่วยกลับมารักษาตัวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ทางมูลนิธิฯให้บริการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหลังจากผู้ป่วยผ่านขั้นตอนประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขแล้ว ก็ให้ติดต่อมายัง โทรศัพท์ หมายเลข 0-7727-2328 และ 0-7728-7630 โดยแจ้งเบอร์โทรฯติดต่อและสถานที่รับ ทางมูลนิธิฯ ได้จัดรถตู้ที่มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และเวชภัณฑ์เบื้องต้นไว้คอยอำนวยความสะดวกด้วย และเมื่อได้จำนวนผู้ป่วยที่เหมาะกับการเดินทาง 1 เที่ยว ก็จะดำเนินการเข้ารับผู้ป่วย และในระหว่างเดินทางกลับมา จ.สุราษฎร์ธานี ตามมาตรการของสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

เมืองคอนเร่งทยอยรับกลับรักษา

นอกจากนี้ใน จ.นครศรีธรรมราช ก็มีโครงการ “คนนครไม่ทิ้งกัน” โดยรับผู้ป่วยโควิดกลับมารักษาตัวบ้านเกิด นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช  กล่าวว่า ด้วยความที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดใหญ่ มีประชากรมากที่สุดในภาคใต้ ทำให้คนพื้นเพใน จ.นครศรีธรรมราช เดินทางไปทำมาหากินหรืออาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตนได้รับการประสานงานจากหลายฝ่ายให้ช่วยแก้ปัญหาเพื่อรับผู้ป่วยชาวนครศรีธรรมราชกลับเข้ามารักษาตัวใน รพ.บ้านเกิด จึงนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พิจารณาอย่างรอบคอบภายใต้หลักมนุษยธรรม และความพร้อมของพื้นที่โดยเฉพาะบุคลากรทางด้านการแพทย์หลายแห่งยืนยันว่ายังมีความพร้อมและมีขีดความสามารถ โดยยังมีเตียงคนไข้รองรับผู้ป่วยอีกจำนวนหลายร้อยเตียง

ทั้งนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติเปิดโรงพยาบาล 7 แห่ง ประกอบด้วย รพ.หลัก 4 แห่ง คือ รพ.สิชล, รพ.ท่าศาลา, รพ.ปากพนัง, รพ.ทุ่งสง และ รพ.สนาม 3 แห่ง คือ รพ.สนามพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ อ.ช้างกลาง, รพ.สนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา และรพ.สนามพระพรหม อ.พระพรหม เพื่อรับผู้ป่วยชาวนครฯ ที่ไม่มีเตียงให้เดินทางกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดตามโครงการ ’คนนครไม่ทิ้งกัน“ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้ป่วยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดแจ้งความประสงค์ขอกลับมารักษาตัวแล้ว 150 คน จากที่แจ้งเอาไว้ 163 คน ซึ่งทางผู้ป่วยและญาติ ๆ จะต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ผู้ที่มาส่งต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วันด้วยเช่นกัน 

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ  ผอ.โรงพยาบาลสิชล ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยติดต่อกลับเข้ารับการรักษามากที่สุด เปิดเผยว่า ในระหว่างการเดินทางมีการประสานงานระหว่างตัวแทนผู้ป่วยที่อยู่ในรถกับทีมแพทย์ตลอดการเดินทาง หลังจากรับตัวและผ่านกระบวนการต่าง ๆ จนนำผู้ป่วยเข้าพักรักษาใน หอผู้ป่วยโควิด ทางทีมแพทย์ พยาบาลจะทำการประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยแต่ละคนว่าอยู่ในระดับใด ทั้งการตรวจร่างกายทั่วไป วัดสัญญาณชีพ วัดค่าออกซิเจนในเลือด เอกซเรย์ปอด เพื่อวางแผนการรักษา มีบางรายเริ่มเหนื่อยคาดว่าจะมีปอดบวมแล้ว ต้องรีบให้ยาต้านเชื้อ เมื่อประเมินเบื้องต้นเรียบร้อย จะแนะนำการปฏิบัติตนในหอผู้ป่วย ก็ให้ผู้ป่วยอาบน้ำชำระร่างกาย และรับประทานอาหาร พักผ่อนตามอัธยาศัย ในหอผู้ป่วยมีบริการไวไฟจากบริษัททีโอทีให้ใช้ฟรีเพื่อการติดต่อสื่อสารได้สะดวกตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตามเริ่มมีผู้ป่วยติดต่อกลับมาจำนวนมาก จึงต้องเร่งหาสถานที่เพื่อจัดตั้ง รพ.สนามขนาด 200-300 เตียงเพิ่ม เป็นการเร่งด่วนต่อไป

ส่วนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นอีกจังหวัดด่านหน้าก่อนจะลงสู่ภาคใต้ นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า แม้ว่าในขณะนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะยังพบผู้ป่วยรายใหม่ต่อเนื่องมาจากคลัสเตอร์โรงงานสับปะรดกระป๋อง ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยสะสม 3,488 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 907 ราย  แต่โรงพยาบาลในพื้นที่มีขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 1,500 เตียง จึงยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้อีกกว่า 600 เตียง  ขณะนี้ได้รับผู้ป่วยติดเชื้อจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง ขอกลับมารักษาตามภูมิลำเนาแล้ว 73 ราย โดยญาติพี่น้องสามารถติดต่อผ่านทาง อสม.ของหมู่บ้านเพื่อประสานต่อไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านตามขั้นตอนฝ่ายปกครอง เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จากนั้นให้ใช้รถส่วนตัวเข้ามาในพื้นที่ ห้ามนั่งรถโดยสารสาธารณะเด็ดขาด ข้อจำกัดในการรับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ คือ จะต้องเป็นผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเข้ามา

ถือว่าในยามที่ประเทศชาติกำลังเกิดภาวะวิกฤติ ประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วนไม่เคยทอดทิ้งซึ่งกันและกัน เรียกว่าสิ่งไหนพอช่วยได้ก็ต้องแบ่งเบาภาระอีกฝ่าย อย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางที่จะร่วมกันฝ่าวิกฤติโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติไปให้ได้.