สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (อาร์เอฟเอ) รายงานว่า ไทยตกลงในหลักการจะซื้อกระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มอีก หลังลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ขยายความร่วมมือด้านพลังงาน เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา มีเป้าหมายส่งเสริมพลังงานสะอาดและสร้างโอกาสมากขึ้น สำหรับการลงทุนในภาคพลังงานของลาว

ลาวเดิมพันอนาคตประเทศไว้กับการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Battery of Southeast Asia) ส่งออกกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก กว่า 50 แห่ง

ที่ผ่านมา การขายพลังงานส่วนเกินเป็นปัญหาสำหรับลาว ซึ่งมีหนี้สินหนักอึ้ง เนื่องจากมีข้อตกลงซื้อพลังงานจากเขื่อนต่าง ๆ ในราคาคงที่ แต่ขายในราคาตลาด ซึ่งราคาต่ำลงจากการระบาดของโควิด-19

เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาวรายหนึ่ง บอกว่า ขั้นตอนต่อไปคือ บริษัทที่บริหารจัดการเขื่อนในลาวแต่ละแห่ง จะเจรจาเรื่องราคาและข้อตกลงการซื้อพลังงานโดยตรงกับไทย

เจ้าหน้าที่รายนี้เผยอีกว่า รัฐบาลลาวมีแผนสร้างเขื่อนเพิ่มอีกเพียบ รวมถึงอย่างน้อย 5 แห่ง บนแม่น้ำโขงสายหลัก แต่ก็ยอมรับว่า แม้การขายพลังงานจากเขื่อนต่าง ๆ ในลาว ประสบความยากลำบากในระยะหลัง เนื่องจากหลายประเทศเพื่อนบ้านมีพลังงานส่วนเกิน แต่ไทยยังคงเป็นตลาดใหญ่สุดของลาว

เจ้าหน้าที่บริษัทพลังงานของรัฐบาลลาว อิเล็กทริกซิตี ดู ลาว หรือ อีดีแอล (Électricité du Laos : EDL) แสดงความเชื่อมั่นต่อความตกลงกับฝ่ายไทย โดยกล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นผู้ซื้อพลังงานลาว ที่เชื่อถือได้มากที่สุด (most reliable buyer)

แต่กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง โดยให้เหตุผลว่า จะเป็นการส่งเสริมการเสื่อมสภาพของระบบนิเวศในแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามแนว 2 ฟากฝั่งแม่น้ำ

คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่า รัฐบาลไทยกล่าวอ้างว่า เศรษฐกิจประเทศจะฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19 โดยไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีพลังงานเพิ่ม ส่วนรัฐบาลลาวก็ไม่ฟังเสียงวิจารณ์ใด ๆ และมักจะเชื่อว่า การสร้างเขื่อนเป็นแนวทางเดียวที่สามารถพัฒนาประเทศได้ดีที่สุด แต่นั่นไม่เป็นความจริงเสมอไป

ไทยมีพลังงานส่วนเกินถึง 41% ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มจากลาวแต่อย่างใด รัฐบาลไทยตัดสินใจเพียงแค่เพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุนไทยกลุ่มหนึ่ง โดยไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้น

ส่วนตัวแทนกลุ่ม “เรารักเชียงของ” บอกว่า ข้อตกลงมีแต่จะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มผู้พัฒนาเขื่อนฝ่ายเดียว และนักลงทุนเหล่านี้ไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและประชาชน

จากรายงานตีพิมพ์เผยแพร่โดยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว ลาวมีสัญญาขายพลังงานให้เพื่อนบ้านเกือบทุกประเทศ โดยไทยซื้อมากที่สุด 10,500 เมกะวัตต์ รัฐบาลลาวตั้งเป้าหมายผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ถึง 28,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

ลาวสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลายสิบแห่ง บนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยรัฐบาลลาวมองว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลายโครงการเผชิญเสียงวิจารณ์ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านต้องพลัดถิ่น และมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทางการเงิน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES