สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะทรงมีเมล็ดพันธุ์พืชสะสมสำรองไว้ในยามที่บ้านเมืองประสบกับภาวะวิกฤติจากภัยธรรมชาติ​ ​จึงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดตั้งโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อสะสมสำรองไว้​ สำหรับเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ และราษฎรทั่วไปที่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก ​ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ดี ให้ผลผลิตดี มีคุณสมบัติทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช

เมื่อปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดตั้งศูนย์พันธุ์พืชแห่งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 135 ไร่ 1 งาน 10.3 ตารางวา ที่ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านสะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน ศูนย์พันธุ์พืชแห่งที่ 1 นี้ ได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และได้เสด็จฯ​ มาทรงเปิดศูนย์ฯ​ นี้ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2552

เนื่องจากพื้นที่ในการดำเนินงานมีจำกัด ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จึงมีการขยายการผลิตเข้าสู่ชุมชนให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านพันธุ์ดี สะสมสำรองไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน

การดำเนินงานของศูนย์พันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีความหลากหลายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ​​ ได้แก่

โครงการ​ “ผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน เพื่อนช่วยเพื่อน” เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้าน โดยเริ่มจากการชักชวนให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริก่อน แล้วจึงค่อยส่งเสริมให้ลูกบ้านเข้าร่วมโครงการสะสมไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติและโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ​ โดยใช้พื้นที่บ้านของเกษตรกร ไม่ได้ปลูกเป็นแปลง เป็นการปลูกแบบธรรมชาติ เป็นการปลูกตามรั้วบ้าน ปล่อยให้ขึ้นริมรั้วหน้าบ้านตามธรรมชาติ มีการทำระแนงพาดรั้วให้ผักเลื้อย

เมล็ดพันธุ์ผักของสมาชิกโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทานเพื่อนช่วยเพื่อน​ ได้แก่ ถั่วพู น้ำเต้า บวบหอม ฟักแฟง ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว คะน้า แคบ้าน ฟักทอง มะเขือยาว มะเขือเปราะเจ้าพระยา โหระพา พริกขี้หนู กะเพรา ฯลฯ​ โดยโครงการนี้มีเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานสะสมสำรองไว้ สำหรับพระราชทานพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้งสิ้น 24 ชนิด จำนวน 6,688,759 ซอง เตรียมพร้อมสำหรับพระราชทานราษฎรได้ 1,113,011 ครัวเรือน

ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวม 604 ครัวเรือน ใน 18 หมู่บ้าน 9 ตำบล กระจายอยู่ใน 5 อำเภอของจังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2558 ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานได้ 19 ชนิด สามารถบรรจุเป็นซองพระราชทานได้จำนวน 2,032,584 ซอง พระราชทานราษฎรได้ 336,073 ครัวเรือน

โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เป็นโครงการที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ดำเนินการขยายผลการปลูกพืชผักพื้นบ้านออกสู่ราษฎร มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ราษฎรปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน เพื่อให้มีผักที่ปลอดภัยจากสารพิษสำหรับการบริโภค หากเหลือสามารถจำหน่ายเป็นรายได้เสริม​

โครงการ “ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” เป็นโครงการเกิดจากการที่ราษฎร หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งงาม ได้เข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และต่อมาได้ขอทำโครงการขยาย โดยตั้งชื่อว่า “ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” มีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกไม้ยืนต้นที่บริโภคได้ตามริมถนนในหมู่บ้าน เพื่อให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บใบและผลไปประกอบอาหารรับประทานได้

โครงการ​ “ปลูกผักปลอดภัย” เป็นโครงการภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GoodAgricultural Practice-GAP) สนับสนุนให้ราษฎรปฏิบัติตามข้อกำหนดในการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยปลอดศัตรูพืช และมีคุณภาพดี

ต่อมาปี​ พ.ศ. 2554 มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริแห่งที่ 2 ที่ จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชไร่ เช่น ถั่วเขียว สะสมไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน

และ พ.ศ. 2555 มูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดตั้งศูนย์ พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ แห่งที่ 3 ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 สะสมสำรองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน

พระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 มีความตอนหนึ่งว่า “….ปัจจัยสำคัญของการเกษตร นอกจากจะเป็นเรื่องน้ำและดินแล้ว การมีพันธุ์พืชที่ดีให้เกษตรกรปลูก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ทำเองจัดเองทำให้เราได้ศึกษาวิธีการว่า พันธุ์ต่างๆ นอกจากจะทำให้มีปริมาณมากขึ้นแล้ว คุณภาพที่จะเหมาะสมในแต่ละแห่งจะทำอย่างไร เพราะถ้าเราทำเองจะทราบว่าตรงไหนต้องทำอย่างไร เป็นความรู้ของพวกเราทุกคนด้วย”

และพระองค์ทรงมักมีรับสั่งกับผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอว่า “… พันธุ์พืชทุกพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ด เป็นของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ดีที่สุด”

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของราษฎร​ให้สามารถพึ่งตนเองด้วยการยังชีพจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมชนบท เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ​ 2​ เมษายน​ 2565​ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม