ถ้าเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบงานคราฟต์ แน่นอนว่า หลายคนแอบชื่นชมกับผลงานของผลิตภัณฑ์ เสื่อ กระเป๋า ตระกร้า ของแต่งบ้านที่พัฒนามาจากเสื่อกก งานฝีมือถักทอแต่ละเส้นสายลายกกโดยชาวบ้านในภาคอีสาน สะท้อนใน Thorr’s อย่างแน่นอน ภายใต้ชิ้นงานที่ออกมา มีความเชื่อมโยงในสายใยและการร่วมกันพัฒนาระหว่าง คุณอุ๋งอิ๋ง-ธัญญ์นภัส กิ่งสุวรรณ ผู้ก่อตั้งและ เอ็มดีแบรนด์ Thorr’s และกลุ่มคุณยาย คุณป้า คุณน้าในถิ่นฐานบ้านเกิด ที่ร่วมสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย

คุณอุ๋งอิ๋ง ปูพื้นฐานชีวิตส่วนตัวสั้น ๆ ว่า เกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นข้าราชการครู ในอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ และร่ำเรียนจบด้าน คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) และปริญญาโทเอ็มบีเอที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) โดยในช่วงชีวิตวัยทำงานมีโอกาสทำงานด้านต่าง ๆ ทั้งโปรดักชั่นเฮาส์ ครีเอทีฟมาร์เกตติ้ง และในปัจจุบันเองรับหน้าที่เป็นผู้จัดการขายต่างประเทศ และขายงานโครงการ สินค้ากลุ่ม Chemi cal ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งไปด้วย     

คุณอุ๋งอิ๋ง ถ่ายทอดถึงจุดเริ่มต้นสร้าง Thorr’s ขึ้นมาว่า “ทอมาจากถักทอ มีอายุ 4 ปีแล้ว อิ๋งทำจากทุกอย่างที่เราเรียนรู้มา ไม่ได้เกิดจากความรักแพสชั่น ความหลงใหลอย่างเดียว ความรู้อย่างเดียว มาทำทอเหมือนสะท้อนตัวเอง หลัก ๆ มีหลายปัจจัย ถ้าเป็นปัจจัยภายในสมัยเรียนสถาปัตยกรรมอิ๋งไปฝึกงานที่เชียงใหม่ เป็นโรงไหม อิ๋งเป็นเด็กโลคัล ต้นทุนที่อิ๋งมีคือ ต้นทุนทางวัฒนธรรมและต้นทุนของความเป็นตัวอิ๋ง อิ๋งมองว่าเป็นสินทรัพย์ เหมือนเรามีความเชื่อว่า ถ้าเราไม่มีองค์กรเป็นแบ๊กอัพ ถ้าเราเป็นเราแบบนี้ เราจะทำอะไรล่ะและบางอย่างที่เราอยากลองเราจะทำมันได้ดีแค่ไหน แล้วเราจะทำอะไร อิ๋งมีโอกาสกลับบ้านที่อำนาจเจริญบ่อย และอินในวัฒนธรรมงานคราฟต์ ชอบคุยกับคนแก่ อินกับเรื่องพวกนี้ อยู่ดี ๆ ก็คิดขึ้นมา เห็นในเฟซบุ๊ก เห็นเสื่อกก เห็นเสื่อหลาย ๆ รูปแบบ รู้สึกว่าทำไมเหมือนเดิม ตั้งแต่เราเด็กจนโตเหมือนเดิมตลอดเลย อะไรที่ทำให้เหมือนเดิม แล้วทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม อิ๋งมองว่าเป็นแค่เสื่อ หรือวัสดุ หรือพัฒนาได้ดีกว่านี้ได้ไหม แบบเปลี่ยนเล็กเปลี่ยนใหญ่ อิ๋งอยากใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนรู้ในศาสตร์หลาย ๆ แขนง มาทำแบรนด์แฮนด์คราฟต์ ที่ร่วมสมัย ชาวบ้านผลิตได้ง่ายขึ้น มีความเป็นธรรม เขามีรายได้เสริม ตัวอิ๋งเองได้ใช้ประโยชน์ อยากสร้างแบรนด์ที่แฮนด์คราฟ์เป็นคอมเทมโพรารี่จากคนโลคัล ที่มีโอกาสได้เห็นโลกกว้างขึ้นหน่อยจากเรา ให้ได้ประโยชน์” 

คุณอุ๋งอิ๋งย้อนวันที่เริ่มต้นทำ Thorr’s ที่จำได้อย่างแม่นยำว่า “ตอนนั้นมีช่างสองคน ช่างในหมู่บ้าน ที่เราเกิด อิ๋งขอร้องให้คนรู้จักทอให้อิ๋งเลือกลายเสื่อที่พัฒนาได้ เริ่มต้นที่นำผลิต ภัณฑ์ออกงาน “บ้านและสวน Select 2018” เริ่มต้นจากเงินเก็บแสนหนึ่ง ออกผลิตภัณฑ์สีครามทั้งหมด ได้รับการตอบรับที่ดี จากนั้นได้นำผลงานไปแสดงในงาน Maison & Objet Paris 2021 ที่ฝรั่งเศส และทำต่อมาเรื่อย ๆ ไม่อยากให้คนสนับสนุนคิดว่าเป็นงานชุมชน เห็นใจ สงสาร อยากให้เขารู้สึกว่าใช้งานได้จริง สวย สมเหตุสมผลแล้วมีคนได้ประโยชน์จริง ๆ และทุกอย่างจะเกิดความยั่งยืน ตอนนั้นถึงตอนนี้โปรดักส์มีหลากหลาย อิ๋งมีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย มีช่างทอประมาณ 30-40 คน ทุกคนทำงานอยู่ที่บ้านของเขา อยู่ในท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเอง การทำงานกับชาวบ้าน คือ ซอฟต์ สกิล ต้องมีความเข้าอกเข้าใจกัน การให้โอกาส การสร้างกฎระเบียบบางอย่างที่รับได้ร่วมกัน แล้วที่สำคัญที่สุดคือแสดงเจตนาที่แท้จริงว่าไม่มีใครเอาเปรียบใคร”  

“การทำงานของอิ๋งอิ่มใจ อะไรที่เป็นรากเหง้า ที่ไปที่มาของเรา อิ๋งมองว่าเป็นต้นทุน คือเอกลักษณ์ ความเป็นตัวตนของเรา แล้วในต้นทุนนั้น อย่างน้อย ๆ อิ๋งภูมิใจและรู้สึกสบายใจที่ได้บอกรากเหง้าของอิ๋ง ได้เป็นตัวตนของอิ๋งในรูปแบบที่เราอยากจะสื่ออกมาว่าเป็นแบบนี้ได้นะ แล้วได้รับการยอมรับ มากกว่าการยอมรับคือ การได้สร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย อันนั้นอิ่มใจสุด สีหน้า แววตาความอิ่มอกอิ่มใจ จากการที่มีคนอื่นได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราอยากจะทำ มันเป็นสารเสพติดของอิ๋ง ที่ทำให้อิ๋งหยุดทำต่อไม่ได้ อันนี้คือแฟค อิ๋งหยุดทำไม่ได้ เพราะอิ๋งหยุดนึกถึงคนที่ได้ประโยชน์จากอิ๋งไม่ได้ แม้จะเหนื่อยบ้าง เจอปัญหาบ้าง ต้องแก้ปัญหาบ้าง เราต้องทำให้ดีที่สุด รากเหง้ากับแกนกระดูกของธุรกิจเรา หรือแกนของเรา ปณิธานของเราว่าอะไรคือ ปณิธานของเรา กระดูกของธุรกิจเราต้องยังอยู่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนก็ตาม อิ๋งคงไม่ได้ทำทอขึ้นมาเพื่อว่าได้มีตัวตนขึ้นมาว่าเป็น “ทอ” แล้วขายโปรดักส์ที่ไม่ มีชาวบ้านออกแบบเลย อันนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับอิ๋งโดยเด็ดขาด เพราะอิ๋งไม่ได้อยากใช้ประโยชน์จากการเอาชาวบ้านมาเพื่อให้คนรู้จักทอแล้วมาเป็นตัวอิ๋ง เพราะไม่มีชาวบ้านก็ไม่มีทอ มันจะจบง่าย ๆ อย่างนั้นเลยค่ะ” คุณอิ๋งย้ำในความตั้งใจจริงและเจตนารมณ์ในการทำงานด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น และแววตาที่จริงจัง.

เรื่อง : แก้วใจ