อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า “ภูพระบาท” ในพื้นที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน นับเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีจุดเด่นแตกต่างจากแห่งอื่นๆ เนื่องจากโบราณสถานส่วนมากที่พบ โดยโครงสร้างแล้วเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธรณีสัณฐานของพื้นที่ ต่อมามนุษย์ในอดีตได้เข้ามาดัดแปลงเพื่อสนองต่อวัฒนธรรมในแต่ละช่วงสมัย

กรมศิลปากร ได้ดำเนินการพัฒนา และเปิด “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ขึ้นในปี พ.ศ.2535 โดยโบราณสถานมีการตั้งชื่อตาม นิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา-บารส” สำหรับโบราณสถานที่น่าสนใจ เช่น หอนางอุสา เป็นสัญลักษณ์ และ “จุดเช็กอิน” ของอุทยานแห่งนี้ มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ มีความสูง 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้างทำให้ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่นๆ สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ด้านบนหอนางอุสา มีการก่อผนังด้วยก้อนหินทราย และสกัดเนื้อหินข้างในให้กลายเป็นห้องคูหา ใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ถ้ำพระ มีลักษณะเป็นเพิงหินเตี้ยๆ รูปร่างแคบยาว ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ ผนังใต้เพิงหิน มีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิ พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน 6 องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วทั้งผนังเพิง

ถ้ำวัว-ถ้ำคน เป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นของอุทยาน แบ่งออกได้เป็น 2 ฝั่งคือ 1.ถ้ำคน มีภาพคน 7 คน ยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลงสีแดงทึบ มีรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน 2.ถ้ำวัว ตัวภาพเขียนด้วยสีแดงสภาพสีจางมาก ภาพแบ่งออกเป็นสองแถว แถวด้านซ้ายเป็นภาพสัตว์ 2 ตัว ตัวแรกรูปร่างคล้ายกระจง ตัวที่ 2 ไม่สามารถระบุชนิดได้ แถวด้านขวาเป็นภาพฝูงวัว ถัดไปเป็นภาพวัวมีโหนก 3 ตัว เดินตามกัน ถัดลงมาด้านล่าง เป็นภาพลายเส้นแบบกิ่งไม้ปนอยู่กับลูกวัวและแม่ กับสัตว์ไม่ทราบชนิดอีก 3 ตัว

โนนสาวเอ้ เป็นแหล่งภาพเขียนสีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอุทยาน พบภาพเขียนสีอยู่สองสมัย ได้แก่ 1.ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีแดงต่อเนื่องกัน มีทั้งภาพลายเส้นคู่ขนาน ลายหยักฟันปลา ลายวงคด ลายทางมะพร้าว ลายสี่เหลี่ยมต่อกันเป็นแถวยาว ลายขีดเป็นบั้ง ลายวงคดต่อกันคล้ายลูกโซ่ ลายสามเหลี่ยม ลายเส้นคด ลายขั้นบันได และลายเส้นขนาน 2.ภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีขาวเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง หงส์ ม้า เป็นต้น

ปัจจุบัน กรมศิลปากร กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ภายในปี พ.ศ. 2567

……………………………………….

คอลัมน์ : จุดเช็กอิน…ยลถิ่นชุมชน