วันนี้ (30 ก.ค.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.)  เปิดเผยว่า จากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29)  ที่ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ประสานผู้รับใบอนุญาตทุกรายให้ทำการตรวจสอบ IP Address ที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต โดยมีลักษณะที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง นั้น  

ทางสำนักงาน กสทช. จึงได้เชิญผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ (ISP) ทุกราย มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน ตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยขอบเขตของการทำงานในกรณีนี้จะดำเนินการตรวจสอบเนื้อหาที่มีการบิดเบือน สร้างความสับสนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในกรณีที่มีความผิดชัดเจน สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าวทันที

“ประชาชนอย่าได้กังวลว่าสำนักงาน กสทช. จะเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของทุกคน สำนักงานฯ ไม่ได้ปิดกั้น หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย แต่จะดูแลในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิดที่มีการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนหมู่มากเกิดความสับสน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น” นายไตรรัตน์กล่าว