ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่กลายเป็น “ชีวิตดิจิทัล” ที่ต้องเชื่อมต่อออนไลน์ ใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งเรื่องงาน เรียน และความบันเทิง เป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน

แต่การใช้ “ชีวิตดิจิทัล” แม้จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายในด้านต่างๆ แต่ก็แฝงไปด้วย “ภัยออนไลน์” ที่มีมากมายหลากรูปแบบ หากเรารู้เท่าทัน!! ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ไม่หลงตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้

ทาง สถาบันเอ็ดเต้ บาย เอ็ตด้า ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า  ได้เปิด 4 ภัยออนไลน์ ที่ต้องเจอยุคดิจิทัล  จะมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง!!

เริ่มด้วย 1.ภัยสแกมเมอร์ (Scammer) ประเภท โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) เป็นภัยออนไลน์ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มีคนตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นภัยในรูปแบบ “ภัยรักลวงจากหุ้นส่วนคู่ใจ” ที่มาหลอกให้รัก แล้วชวนให้ลงทุน หรือทำธุรกิจ หวังสร้างอนาคตร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเจอในเว็บไซต์ และแอพพิลเคชั่นหาคู่ รวมถึงสื่อโซเซียลต่างๆ

ภาพ pixabay.com

โดยมิจฉาชีพมักจะสร้างโปรไฟล์ด้วยการใช้รูปหนุ่มสาวหน้าตาดี แสดงตนว่ามีการงานที่ดี รายได้สูง หรือเป็นชาวต่างชาติ มาแชทพูดคุย มาหลอกให้รักนานหลายๆ เดือน ก่อนจะชวนให้ลงทุนทำธุรกิจ เช่น ชวนเล่นหุ้น ลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี และให้เหยื่อโอนเงินผ่านลิงก์เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มของตน

ใครที่มีประสบการณ์น้อย ก็จะอาจเจอคนรักจอมปลอมตกเป็นเหยื่อเหล่าสแกมเมอร์!! หลงโอนเงินสูญ เป็นหลักแสน หลักล้าน สุดท้ายเมื่อได้เงินไปแล้วพวกนี้ก็จะบล็อก หรือลบโปรไฟล์ทำให้ติดต่อไม่ได้อีกเลย!!

อย่างไรก็ตาม มีวิธีตรวจสอบและป้องกันสแกมเมอร์เบื้องต้น เช่น ตรวจสอบรูปโปรไฟล์ผู้ต้องสงสัย โดยเซฟรูปที่สงสัยแล้วอัปโหลดรูปที่เว็บไซต์ Google Image Search เพื่อเช็กประวัติเจ้าของรูปที่แท้จริง ตรวจสอบ แหล่งที่มาและข้อความว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่??

และไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัญชีธนาคาร รหัสผ่าน อีเมล หรือกรณีพบว่าเป็นสแกมเมอร์ ให้กดบล็อกหยุดการติดต่อทันที!!

2.ภัยการโจมตีแบบฟิชชิง (Phishing) ถือเป็นภัยออนไลน์ที่มักแฝงมากับเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เว็บเถื่อน เว็บลามก รวมถึงมาในรูปแบบอีเมลปลอม ลิงก์ปลอม เว็บไซต์ปลอม โดยการสร้างเนื้อหา ชวนเชื่อด้วยของรางวัล หรือจำนวนเงินที่ “ล่อตาล่อใจ”หลอกให้เหยื่อกด เช่น คุณได้รับเงินรางวัลก้อนโต แจกของฟรี หรือสินค้าที่ซื้อมีปัญหา หรือเปลี่ยนวิธี ชำระเงิน ให้กรอกยืนยัน ข้อมูลบัตรเครดิตใหม่ ซึ่งเมื่อหลงกลกรอกข้อมูลส่วนตัวใหม่อย่าง ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ อีเมล เบอร์โทรศัพท์ เลขที่บัญชีธนาคารและรหัสผ่าน ก็จะเสี่ยงถูกโอนเงินในบัญชีออกไปจนหมดเกลี้ยง!?!

ภาพ pixabay.com

สิ่งสำคัญก็คือ “สติ” ก่อนจะคลิกลิงค์ใด้ๆ ที่แนบมาต้องเช็คให้ชัวร์ก่อนทั้งชื่ออีเมลผู้ส่ง ข้อความว่าถูกต้อง น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือถ้าโทรฯมาในนามบริษัทหรือหน่วยงานใด ๆ ให้เช็คเบอร์โทรที่ถูกต้อง หรือโทรฯไปสอบถามหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง

ในกรณีเมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อเข้าแล้วให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ทันทีเพื่อป้องกันการเข้าถึงบัญชีและลดความเสี่ยงที่จะโดนโอนเงินออกไป!!!

3.ภัยสร้างข่าวปลอม (Fake News) ในยุคที่เราสามารถเข้าถึงช่องทางรับข่าวสารได้หลากหลาย โดยเฉพาะ บนโลกอินเทอร์เน็ต  ที่ข่าวสารมีมากมายไม่รู้อันไหน “ข่าวจริง” อันไหน “ข่าวลวง” ต้องมีการกลั่นกรองให้ดี “ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์” เช็กแหล่งที่มา หรือ สอบถามหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หรือกลายเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการ เผยแพร่ข่าวปลอม!?!

ซึ่งผู้ที่สร้างข่าวปลอม บิดเบือนความจริง และนำมาเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียโดยมีเจตนา เพื่อให้ประชาชน แตกตื่นตกใจนั้น เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 นำข้อความเท็จ เข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับ ผู้กระทำผิดเช่นกัน

ภาพ pixabay.com

และ 4.ภัยการเงิน ขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งในยุคชีวิตดิจิทัล การซื้อขายสินค้าออนไลน์ กลายมาเป็นเรื่องง่าย และเป็นที่นิยมมากขึ้น มีการผูกข้อมูลบัตรเครดิตไว้ในระบบเพื่อตัดเงินอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกสบาย จึงเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพในการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งก็มีหลากรูปแบบ  ทั้ง หลอกลวงโดยส่งข้อความ เพื่อให้เหยื่อกดยืนยันข้อมูลบัตรเครดิต หรือแฮกเข้าระบบร้านค้าออนไลน์แล้วขโมยข้อมูลบัตรเครดิต หรือร้านค้าเองนำข้อมูลลูกค้าไปใช้

ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว มิจฉาชีพก็จะใช้โปรแกรมสุ่มเลขบัตรและวันหมดอายุ แล้วนำไปลองซื้อสินค้าจากร้านที่ ไม่มีระบบความปลอดภัยที่ดี เช่น ไม่ใช้ชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียว (One Time Password หรือ โอทีพี) ในการยืนยันตัวตน

สิ่งสำคัญในการป้องกัน คือ เมื่อซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้า อย่าปล่อยให้บัตรเครดิตอยู่กับ พนักงาน โดยคลาดสายตา หรือข้อมูลสำคัญคือ เลข 3 หลักหลังบัตรเครดิตที่เรียกว่า ซีวีวี หรือ Card Verification Value ต้องเก็บดีๆอย่าให้คนอื่นรู้  และหากรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อ ให้รีบโทรแจ้งระงับการใช้งานกับธนาคาร และต้องเก็บหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย

 เรื่องภัยออนไลน์ ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรต้องเรียนรู้ หรือติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และสามารถรับมือกับเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ได้!?!

  จิราวัฒน์ จารุพันธ์