เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. แหล่งข่าวจากศาลาว่าการ กทม. เปิดเผยถึงร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. เพื่อขยายสัญญาสัมปทาน ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ออกไปอีก 30 ปี (2572-2602) ซึ่งสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.)ได้ส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับทีมงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อศึกษารายละเอียดแล้ว โดยได้ส่งมอบให้ช่วงระหว่างรอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง สถานะของร่างสัญญาขณะนี้ รอกระทรวงมหาดไทย (มท.) ส่งเรื่องมาที่ กทม. เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณา โดยยึดตามกรอบคำสั่ง ม.44 เป็นหลัก ทั้งนี้ หาก ผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่ ไม่เห็นด้วยกับร่างสัญญาดังกล่าว สามารถทำความเห็นเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ เคยให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ไม่ได้คัดค้านเรื่องการต่อสัญญาสัมปทาน แต่มองว่าควรผ่าน พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เนื่องจากมีกระบวนการพิจารณาที่ละเอียดและถี่ถ้วน รวมถึงมีการแข่งขันเรื่องราคา อาจทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงกว่านี้ได้และการพิจารณาจะต้องย้อนดูอดีตด้วยอย่าโยนมาให้ตนทั้งหมด หากเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แล้วจะต้องพูดคุยกันถึงภาพรวม โดยมี 3 ประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณา คือ 1.ที่มาของหนี้สิน 2.สัญญาจ้างเดินรถ และ 3.การต่อสัญญาสัมปทานเหตุใดจึงไม่เข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของเหตุผล ไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการคุยกัน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบัน มีระยะทางรวม 67.45 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานี เชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัด กทม. ปทุมธานี และสมุทรปราการ แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยเส้นทางหลัก สายสุขุมวิท “หมอชิต-อ่อนนุช” และสายสีลม “สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน” ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร กทม.ให้สัมปทาน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา 30 ปี เปิดบริการวันที่ 5 ธ.ค. 2542 ครบสัญญาวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ปัจจุบันเก็บค่าโดยสาร 16-44 บาท

2.ต่อขยายช่วงที่ 1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทางรวม 12.75 กิโลเมตร กทม.ก่อสร้างและติดตั้งระบบ โดยมอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที วิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้เดินการและได้ว่าจ้าง BTSC เดินรถถึงปี 2585 เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย

และ 3.ส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางรวม 31.20 กิโลเมตร กทม.รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการพร้อมภาระหนี้ จาก รฟม.เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 และว่าจ้างให้ BTSC ติดตั้งระบบและเดินรถถึงปี 2585

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 เพื่อแก้ปัญหาสายสีเขียวสายหลักและส่วนต่อขยายให้เดินรถต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน ในอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระประชาชน ในส่วนนี้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งกำกับดูแล กทม. ได้เสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บมจ. บีทีเอสซี เป็นเวลาอีก 30 ปี คือขยายอายุสัมปทานไปถึงปี 2602 จากสัมปทานปัจจุบันที่จะสิ้นสุดปี 2572 ให้ครม.พิจารณา เมื่อเดือน ส.ค. 2562 ซึ่งพิจารณาตามผลการเจรจาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 โดยมีเงื่อนไขให้รับหนี้สินไปด้วยมูลค่ากว่า 107,000 ล้านบาท พร้อมปรับปรุงขยายสถานีสะพานตากสิน 2,000 ล้านบาท เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15 บาท อัตราคาโดยสารสูงสุด 65 บาท และจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม.ตั้งแต่ปี 2573 จนสิ้นสุดสัญญา ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้ประเมินว่า กทม. จะมีรายได้ ประมาณ 1 แสนล้านบาท และโครงการมีระยะเวลาคืนทุน 16 ปี

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการเสนอการต่อสัมปทาน ให้ BTSC กทม.ได้ศึกษาในแนวทางการร่วมลงทุน (PPP) พร้อมทดสอบความสนใจภาคเอกชนภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใหม่สนใจ เหลือเพียง BTSC ผู้รับสัมปทานเดิม.