เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ว่า โรค covid 19 มีระยะฟักตัวสั้น 2 ถึง 7 วัน ไม่เหมือนอย่างโรคที่มีระยะฟักตัวยาว อย่างเช่นสุกใส (21 วัน) ตับอักเสบเอ (3-4 สัปดาห์) ตับอักเสบบี (3-6 เดือน) ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคจึงดีมาก

Covid 19 จึงมีโอกาสเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ เพราะเมื่อระดับภูมิต้านทานลดลง ก็จะมีการติดเชื้ออีก เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ที่มีระยะฟักตัวสั้น

การที่มีระยะฟักตัวสั้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงตลอดเวลา เพื่อขัดขวางไม่ให้ติดเชื้อ จึงเป็นการยาก และเมื่อติดเชื้อแล้ว จำเป็นต้องอาศัยภูมิต้านทานระบบ T เซลล์ ในการกำจัดและลดอาการรุนแรง

การให้วัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใด ภูมิต้านทานจะขึ้นสูงหลังให้ หลังจากนั้นจะลดลงไปตามกาลเวลา ยิ่งสูงมาก ก็ลดลงเร็ว แบบ exponential curve จึงทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงไปตามเวลา แต่เมื่อติดเชื้อความรุนแรงของโรคจะลดลง เพราะมีภูมิคุ้มกันอีกระบบหนึ่งในการทำให้หายป่วย

ไม่ว่าวัคซีนอะไร ยิ่งภูมิขึ้นสูงมาก ก็จะลดลงเร็ว ร่างกายจะไม่เก็บไว้ จะเหลือไว้เป็นกองหนุนเล็กน้อยเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ถึงฉีดวัคซีนก็ยังมีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป

ระยะห่างของวัคซีน ตามหลักการการให้ทีหรือเร็ว จะกระตุ้นภูมิต้านทาน สู้การให้ระยะห่างมากกว่าไม่ได้ เป็นเรื่องหลักการของ การให้วัคซีนทั่วไป

โควิด 19 ไม่หมดไปแน่นอน โรคนี้จะบรรเทาลง เมื่อทุกคนได้รับวัคซีนและยอมรับว่าจะติดเชื้อได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะต้องลดลง และลดการเสียชีวิตให้ได้ และต่อไปการพัฒนายารักษา ก็จะมาช่วยอีกแรงหนึ่ง เราจะต้องอยู่กับโรคนี้ให้ได้

เดิมทีเราคิดว่ามาถึงครึ่งทางแล้ว แต่ความเป็นจริงระยะทางอีกยาวไกล โดยที่ทุกคนจะต้องมีภูมิต้านทานอยู่ระดับหนึ่ง ในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรค และโรคนี้จะติดเชื้อโดยธรรมชาติ เมื่อติดไปก็จะกระตุ้นภูมิต้านทาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนโรคหวัดที่เราเป็นในวัยเด็ก โตขึ้นมาก็จะมีภูมิต้านทาน และภูมิต้านทานนั้นก็จะทำให้ เป็นซ้ำไม่รุนแรงไม่ลงปอด โอกาสเสียชีวิตก็จะน้อยลง.