เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการทำงานและการแก้ไขปัญหาของเขตหนองแขม ว่าปัญหาหลักๆของเขตหนองแขม เรื่องแรก คือ เรื่องน้ำท่วม มีหมู่บ้านจำนวนมากขยายเข้ามาในเขตเกษตรกรรมเก่า มีเรื่องการขุดลอก คูคลอง การระบายน้ำต่าง ๆ มีโครงการทำเขื่อน เช่น คลองมหาศร กำลังสูบน้ำตามจุดต่าง ๆ เพื่อระบายน้ำได้เร็ว และมีโครงการอยู่ที่คลองทวีวัฒนาที่เป็นจุดคอขวดอยู่ ทำอุโมงค์ลอดเพื่อให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น ปัญหาน้ำท่วมที่พบหลายๆครั้ง คือ หลายหมู่บ้านเป็นพื้นที่เอกชน ซึ่งกทม.ไม่สามารถขุดลอกท่อได้ คงต้องดูมาตรการดูแลคลองที่เชื่อมกับหมู่บ้านให้ดีขึ้น

เรื่องที่ 2 ปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะถนนเส้นบางบอน 3 กับถนนบางบอน 5 วิ่งมาจากเขตบางบอนเชื่อมกับถนนเพชรเกษม เรามีโครงเร่งรัดที่ขยายคอขวดตรงสะพาน ให้สำนักการโยธาเร่งดำเนินการ อาจจะมีเวณคืนที่ดินเล็กน้อย แต่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว

เรื่องที่ 3 จุดเสี่ยงต่างๆ ไฟฟ้าดับ ทางข้ามหรือทางม้าลาย สำหรับเรื่องไฟฟ้าไม่ติด มีความคืบหน้าจากครั้งที่แล้วที่ประชุมที่เขตคลองเตย สรุปว่าสำนักการโยธาจะเป็นผู้รับผิดชอบเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านการไฟฟ้านครหลวง ส่วนทางม้าลาย เขตรายงานว่ามี 67 จุด ทุกจุดจะมีการปรับปรุง ทั้งการขีดสี ตีเส้น ติดตั้งสัญญาณไฟ ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการต่อไป

เรื่องที่ 4 เรื่องฝุ่น PM2.5 เนื่องจากเขตหนองแขมมีถนนเพชรเกษม รถบรรทุกสามารถวิ่งได้ทั้งวันทั้งคืน ถนนพุทธมณฑลสาย 2-3 เป็นแหล่งกระจายสินค้า มีรถบรรทุกวิ่งมารับสินค้าและกระจายไปทั่วประเทศ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง รวมทั้งเป็นพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตก ติดจ.สมุทรสาคารและนครปฐม มีโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะมีผลต่อเรื่องฝุ่น PM2.5 ทำให้เขตหนองแขมมีผลกระทบเรื่องฝุ่นยาวนานและต่อเนื่อง ทั้งนี้ได้ฝากมาตรการให้ไปดำเนินการ เรื่องแรก เขตต้องเข้มข้นกิจกรรมการปล่อยควันพิษต่าง ๆ ขณะเดียวกันส่วนกลางต้องสนับสนุน อย่างแรก 1. การทำวิจัย ต้นเหตุ PM2.5 ให้เข้มข้น ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง นโยบายเราจะมีนักสืบฝุ่น คือดูให้รู้เลยว่า PM2.5 ในแต่ละเขตที่มาที่ไปจากอะไร ต้นเหตุคืออะไร จะได้มีการแก้ปัญหาได้ตรงจุด 2. ให้สำนักการโยธาไปดูไซต์งานต่าง ๆ และกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างว่า ต้องไม่เกิด PM2.5 ในกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงรถที่ขนของเข้ามา รถปูน รถต่าง ๆ ถ้ารถมีปัญหา จะให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว จนกว่าจะแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ 3.มอบหมายสำนักการจราจรหาแนวทางการควบคุมมาตรฐานของรถบรรทุกที่วิ่งผ่านเข้ามาในกรุงเทพฯ ทางกรมการขนส่งทางบกเขาอาจมีภารกิจอื่น การไปตั้งด่านกลางถนนอาจทำให้รถติดด้วย มาตรการอย่างไรที่เข้มข้นขึ้น ที่จะควบคุมปริมาณรถเข้าออกไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 4. โรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยูในกรุงเทพฯ 6,000 แห่ง จะติดตามเฝ้าระวังตัวเซ็นเซอร์ที่ปล่องอย่างไร เพื่อให้ดูคุณภาพอากาศที่ปล่อย 24 ชม. ซึ่งเป็นมาตรการที่จะพัฒนาต่อไป

“นโยบายนักสืบฝุ่นอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ทันที เป็นการทำวิจัยในระยะยาว เพื่อหาที่มาที่ไปของฝุ่น ที่ผ่านมาของกรุงเทพฯ ไม่มีข้อมูลตรงนี้ละเอียด”

เรื่องที่ 5 หาบเร่-แผงลอย มีหลายจุดที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น บริเวณหน้าหมู่บ้านหรรษา ถนนเพชรเกษม ขั้นตอนแรก คือให้ไปสำรวจทำทะเบียนทั้งหมดของผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในเขตหนองแขม ประมาณ 300 ราย แล้วมาดูจุดต่างๆ ว่าจุดไหนสามารถอะลุ่มอล่วย และอยู่ได้โดยไม่เบียดบังคนเดินเท้า ข้อดีคือ ถนนเพชรเกษมมีทางเท้าที่กว้าง เดี๋ยวเราไปดูรายละเอียดอีกที คงต้องรีบดำเนินการ ด้านสวนสาธารณะเขตหนองแขมมีแค่แห่งเดียว คือสวนพุทธรักษา ได้มอบหมายเขตฯให้หาพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ตอนนี้ไปดูพื้นที่ใต้สะพานพุทธมณฑลสาย 3 มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ให้พัฒนาและหา Pocket Park ให้มากขึ้น

เรื่องที่ 6 โรงขยะหนองแขม มีพื้นที่ 300 กว่าไร่ ชาวบ้านบ่นเรื่องกลิ่นขยะจากกองขยะ ทั้งนี้อาจพิจารณาว่าสามารถพัฒนาพื้นที่กองขยะหนองแขมให้เป็นสวนสาธารณะได้หรือไม่ ปัจจุบันมีพื้นที่สวนป่ากว่า 10 ไร่ อนาคตอาจมีโครงการตรงนี้เพิ่ม เพื่อให้สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวของหนองแขมได้

“ภาพรวม เขตหนองแขม Traffy fondue ที่แจ้งมาค่อนข้างดี แจ้งมา 500 กว่าเรื่อง รับเรื่องเกือบหมดแล้ว 99% แก้ไขแล้ว 190 เรื่อง ถือว่าเป็นเขตที่มีการตอบสนองปัญหากับประชาชนได้ดี ถึงดีเยี่ยม ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่เขตทุกคนที่ช่วยกันแก้ปัญหา มีความกระตือรือร้นและตอบปัญหาได้ดี” นายชัชชาติ กล่าว