สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ว่า การประมาณการล่าสุดของมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์ยีราฟ (จีซีเอฟ) องค์กรไม่แสวงหากำไรในนามิเบีย ที่อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือยีราฟในป่า แสดงให้เห็นว่า มียีราฟเหลืออยู่ประมาณ 117,000 ตัว ในทวีปแอฟริกา ซึ่งลดลงเกือบ 40% จากจำนวนยีราฟเมื่อ 35 ปีที่แล้ว

การหายไปอย่างสมบูรณ์ของยีราฟจาก 7 ประเทศในแอฟริกา กระตุ้นให้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ส่งสัญญาณเตือนและจัดหมวดหมู่พวกมันในกลุ่ม “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์” เมื่อเดือน ธ.ค. 2559

ยีราฟในโลกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกันตามภูมิศาสตร์ และสายพันธุ์ย่อยบางสายพันธุ์อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ปัจจัยทั่วไปต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ, การก่อความไม่สงบ และการล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย รวมถึงเหตุผลทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น การล่าเพื่อเอาเนื้อ, ความเชื่อที่ว่าหนังยีราฟรักษามะเร็งได้ และการมองว่าหางยีราฟคือสัญลักษณ์แสดงฐานะ ล้วนมีส่วนต่อจำนวนประชากรยีราฟที่ลดลงทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม นางสเตฟานี เฟนเนสซี ผู้อำนวยการของจีซีเอฟ กล่าวว่า แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสูญเสียที่อยู่อาศัย คือตัวการสำคัญต่อการหายไปของยีราฟ โดยในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา ยีราฟเสียที่อยู่อาศัยเกือบ 90% ให้กับการพัฒนาของมนุษย์ ทั้งการเกษตรและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

แม้ยีราฟจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ 5 สัตว์ยอดนิยมในสวนสัตว์เปิดอย่าง ช้าง, สิงโต, กระบือ, เสือดาว และแรด แต่สัตว์สีเหลืองตัวสูงจากที่ราบแอฟริกาเหล่านี้ ก็เป็นสัญลักษณ์ที่น่าจดจำเหมือนสัตว์อื่นเช่นกัน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES