เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายชัยยา ห้วยหงส์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ช้างป่าพลายงาเดี่ยว หรือ พลายเดี่ยวหลับ อายุประมาณ 30 ปี ซึ่งเป็นช้างป่านิสัยดี มีลักษณะงาข้างซ้ายสั้น ส่วนงาข้างขวายาว ตัวขนาดใหญ่ ที่หากินบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้เดินออกจากป่ามาหากินบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ ตรงข้ามศูนย์อาหาร มีลักษณะยืนซึม และดูผอมลง น่าจะเกิดจากมีอาการปวดฟันขึ้นมาอีกครั้ง แต่ที่น่าแปลกจนตกใจ เพราะพบว่างาทั้ง 2 ด้าน หักหลุดหายไป

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 65 ที่ผ่านมา พลายงาเดี่ยว หรือพลายเดี่ยวหลับ ปวดฟันบริเวณโคนงาด้านซ้ายจึงเดินออกจากป่ามาบริเวณที่ทำการ เพื่อขอความช่วยเหลือ แจ้งให้ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินทางมาตรวจดูอาการและให้ยาแก้ปวด พลายงาเดี่ยวอาการดีขึ้นและกลับเข้าป่าไป

นายชัยยา กล่าวว่า ช่วงเย็นเมื่อวาน (2 ก.ค.) พบช้างป่าพลายงาเดี่ยว หรือพลายเดี่ยวหลับ เดินออกจากป่า มาบริเวณที่ทำการอีกครั้ง และมายืนซึมและดูผอมลง น่าจะปวดฟัน พบว่า งาด้านซ้าย-ขวา หักหลุดออกไปแล้วในป่า เดินออกมาขอความช่วยเหลืออีกครั้ง จึงได้ประสานไปยัง นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต พร้อมสั่งยา ให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่ ดำเนินการให้ยาใส่ผลไม้ตามสั่ง ซึ่งต่อมาพบว่ามีอาการคลายปวดลง และพลายงาเดี่ยว หรือพลายเดี่ยวหลับ ได้เดินหากินได้และค่อยๆ เคี้ยวอาหารได้

สาเหตุปวดงาหรือโคนฟันที่แตก น่าจะเกิดจากการลับงากับก้อนหินหรือต้นไม้ หรือต่อสู้กับช้างป่าตัวอื่น อาการปวดงาจะทำให้ช้างหงุดหงิดได้ ไม่ต้องยิงยาสลบแต่อย่างใด เนื่องจากพลายงาเดี่ยวไม่มีนิสัยดุร้าย  

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยจำนวนมาก ที่เดินทางขึ้นไปบนอุทยานฯเขาใหญ่ ทราบข่าวต่างพากันมาดูช้างป่าพลายงาเดี่ยว ต่างยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายภาพและคลิปวิดีโอ ไว้เพราะถือว่าโชคดีขึ้นเขาใหญ่ได้เจอช้างป่าออกมาให้เห็นจะจะ เจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลความปลอดภัย

ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ช้างป่าพลายงาเดี่ยว หรือเจ้าหน้าที่ให้ฉายา พลายเดี่ยวหลับ ซึ่งมีนิสัยชอบยืนหลับตลอด พบบริเวณงาด้านซ้ายมีรอยแตกยาว เกิดอาการเน่า มีแมลงวันตอม เพราะช้างใช้งวงโกยดินพ่นไล่แมลงบริเวณงาตลอดเวลา สาเหตุน่าจะเกิดจากการลับงา งาไม่แข็งแรง ขาดแคลเซียมบำรุงกระดูก เพราะสัตว์ต่างต้องมีการกินเกลือแร่ธาตุเข้าไป เพื่อสร้างเสริมกระดูก จึงอยากเชิญชวนกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ หรือสถานศึกษา ร่วมกันอนุรักษ์และประสานอุทยานฯ เพื่อทำโป่งเทียมบนพื้นที่อุทยานฯ เพื่อให้สัตว์ป่า เก้งกวางที่มีลูกอ่อน ตั้งท้อง หรือช้างป่าได้เข้ามากิน จะได้เกลือแร่บำรุงกระดูก เพื่อให้งาและกระดูกแข็งแรง เนื่องจากเกลือแร่ตามธรรมชาติมีน้อยมาก ส่วนช้างป่าพลายงาเดี่ยวหลังให้ยาเพื่อลดอาการปวดแล้วก็กินอาหารได้ น่าจะดีขึ้นและมอบให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยดูแลตรวจสอบตลอดในช่วงนี้