เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่กำลังแชร์กันอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากที่แฟนเพจเอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม ได้เปิดเผยข้อมูลศูนย์วิจัยโรคปรสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่พูดถึง “ดื่มเหล้าเบียร์เสี่ยงติดพยาธิ”
โดยงานวิจัยดังกล่าว มีการระบุว่า การดื่มสุรา เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้มีการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย Strongyloides stercoralis สูงกว่าคนที่ไม่ดื่ม โดย “การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้การติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายมากยิ่งขึ้น สูงกว่าผู้ที่ไม่ดื่มถึง 5 เท่า” โดยพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัยจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายในผู้ป่วย ทำให้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก และเกิดภาวะการติดเชื้อรุนแรง เชื่อว่าเกิดจากการที่แอลกอฮอล์ไปทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างโฮสต์และพยาธิเสียสมดุลไปในผู้ป่วยที่เสพติดแอลกอฮอล์และมีการติดเชื้อเรื้อรัง
หลักฐานสำคัญคือ ร่างกายที่ได้รับแอลกอฮอล์นานๆ เข้า แอลกอฮอล์นี้จะไปกระตุ้นแกนไฮโปทาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต (HPA)ให้มีการผลิตฮอร์โมน cortisol ที่มากเกินไป ฮอร์โมนนี้จะไปทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันลดลงโดยเฉพาะ type 2 T helper cells (Th2) และไปเลียนแบบฮอร์โมนการลอกคราบของพยาธิ “ทำให้พยาธิสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงระยะตัวอ่อนจากนะยะหนึ่งสู่อีกระยะหนึ่ง เกิดการติดเชื้อในร่างกายผู้ป่วยได้ (autoinfection)”
งานวิจัยเปรียบเทียบผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวน 263 ที่เป็นผู้ดื่มแอลกอฮอล์แบบเรื้อรัง เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม 590 ราย พบว่า การติดเชื้อพยาธิสูงถึง 20.5% ในกลุ่มดื่มประจำ ขณะที่ผู้ไม่ดื่มพบการติดเชื้อเพียง 4.4% ทั้งสองกลุ่มนี้มีระดับการติดเชื้อที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Marques CC, et al. 2010)
สำหรับพยาธิเส้นด้าย S. stercoralis เป็นพยาธิที่พบพบได้ตามบริเวณเขตร้อนชื้น มีรายงานการติดเชื้อทั้วโลกมากว่า 370 ล้านคน พบได้บ่อยในบ้านเรา มีรายงานผู้ป่วยทุกภาค ติดต่อโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิที่มีในผัก ผลไม้ อาหาร น้ำดื่มที่ไม่สะอาด และยังสามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ อาการที่พบอาทิ ตุ่ม ลมพิษบริเวณที่ตัวอ่อนพยาธิไชเข้าผิวหนัง ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย และท้องร่วง อาการมักพบในรายที่ติดเชื้อจำนวนมาก
“หากท่านชื่นชอบการดื่มแอลกอฮอล์ ควรจะหมั่นตรวจสุขภาพ ตรวจการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อรักษาให้หายจากโรค และป้องกันการติดเชื้อจำนวนมาก ลดอาการแทรกซ้อนที่จะตามมา”..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @เอฟเอ็มซีคลินิกเวชกรรม, @ศูนย์วิจัยโรคปรสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี