เมื่อวันที่ 4 ส.ค. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ด้วยในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าสารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดด มีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้ปะการังฟอกขาว 

นายธัญญา กล่าวต่อว่า กรมอุทยานฯ พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 6 ของระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 จึงออกประกาศ ดังนี้ 1. ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไป ในอุทยานแห่งชาติฯ ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3),  Octinoxate (Ethylhexyl  methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ  Butylparaben 

“หากผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24  มิ.ย. พ.ศ. 2564 และราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 สิงหาคม เป็นต้นไป” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว

นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ นักท่องเที่ยวทุกคนสามารถช่วยอนุรักษ์ปะการังและท้องทะเลไทยได้  ด้วยการเลือกใช้ครีมกันแดดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันสมาคมผู้ฝึกสอนดำน้ำอาชีพ และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งแนะนำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และใช้เฉพาะครีมกันแดดที่ใช้สินแร่เป็นฐาน เช่น Zinc Oxide ซึ่งไม่ละลายน้ำและตกตะกอนสู่ก้นทะเลได้อย่างปลอดภัย

นายดำรัส กล่าวต่อว่า หากช่วยกันลดผลกระทบจากมนุษย์ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม  และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ไม่ทำร้ายปะการังนั่นหมายถึงการมีส่วนช่วยต่อลมหายใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับปะการังยืนหยัด รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งประกาศข้อห้ามเรื่องครีมกันแดดออกมา การใช้สารอันตรายต่อปะการังอย่างแพร่หลาย จะไม่มีโอกาสให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่โตแค่เฉลี่ยปีละ 10 ซม. และบางชนิดโตเฉลี่ยแค่ปีละ 1-2 ซม. มีชีวิตรอดต่อไป

“80-90% ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวทะเล ที่จะมีการดำน้ำ ทั้งน้ำลึกและน้ำตื่นนั้นมากับบริษัททัวร์อยู่แล้ว ซึ่งเวลานี้ กรมอุทยานฯ ส่งหนังสือเวียนให้อุทยานฯ ทางทะเลทุกแห่งทราบ ให้แจ้งบริษัททัวร์ให้แจ้งนักท่องเที่ยว รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานเองมีความรู้ในเรื่องชนิดและประเภทของครีมกันแดดที่สามารถใช้ได้โดยทะเลและสัตว์ทะเลไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่นำเอาครีมกันแดดที่ใช้ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่แล้วเจ้าหน้าที่จะยึดคืน เจ้าหน้าที่แค่จะเก็บเอาไว้และส่งคืนให้ภายหลังจากนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวกลับออกจากอุทยานแล้ว ยอมรับว่า บางพื้นที่อาจจะขลุกขลักไปบ้าง เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีประกาศนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่กรมอุทยานฯทำจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบนิเวศน์ในทะเล” นายดำรัส กล่าว

ด้านนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้มาแต่ต้น ได้โพสต์เฟชบุ๊ก ระบุว่า ในกรณีประกาศของอุทยานฯ ห้ามนำ/ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อปะการัง ในพื้นที่อุทยานฯ มีรายละเอียดที่อยากบอกเพื่อนธรณ์ดังนี้ มีการศึกษาทั่วโลกพบว่า สารเคมีบางชนิดในครีมกันแดด ส่งผลต่อปะการัง เช่น ทำให้ปะการังฟอกขาวง่ายขึ้น ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ ฯลฯ นอกจากนี้ NOAA ซึ่งเป็นองค์กรหลักทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ยังระบุถึงผลกระทบที่มีต่อสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย โดยปัจจุบัน มีการแบนครีมกันแดดในหลายสถานที่ เช่น ฮาวาย ปาเลา bonaire ฯลฯ 

นายธรณ์ ระบุต่อว่า ในเมืองไทย เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้มาหลายปี และเริ่มมีมาตรการในบางพื้นที่ เช่น สิมิลัน ครั้งนี้ ประกาศห้ามทั่วทุกอุทยาน หากถามถึงความจำเป็น ผมอธิบายไปแล้วว่า มีการศึกษามานาน มีการรับรองถึงผลกระทบโดย NOAA ที่คนเชื่อถือ และมีการแบนในหลายแห่ง สำหรับคำถามว่า ทำไมไม่ห้ามตั้งแต่ผู้ผลิต  คงต้องตอบว่าอุทยานไม่มีอำนาจ ซึ่งก็เป็นในลักษณะเดียวกับหลายประเทศที่ห้ามเฉพาะพื้นที่ เช่น อเมริกา แต่ในอนาคต เมื่อโลกมีเทรนด์มาแนวนี้ ผู้ผลิตย่อมต้องหาทางออก และผลิตของที่ไม่รบกวนมากขึ้น คำถามสำคัญอีกเรื่องคือเจ้าหน้าที่จะดูแลอย่างไร

“คำตอบชัดๆ ต้องฟังจากอุทยานฯ แต่เมื่อมีการประกาศห้าม คงต้องเริ่มหาทางปรับตัว ข้อเสนอแนะคือกรมอุทยานฯ ควรช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ตรวจสอบและระบุยี่ห้อหรือติดป้ายให้คนทราบทั่วกันว่า ยี่ห้อไหนอย่างไรที่โอเค หากทำเช่นนี้ได้ โดยส่วนกลางประสานหน่วยงานอื่น/จัดจ้างตรวจสอบ จากนั้นส่งข้อมูลให้ทราบทั่วถึงกันทุกอุทยานฯ  เพื่อแจ้งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้ปฏิบัติตาม ก.ม.ได้ ในช่วงนี้คงมีนักท่องเที่ยวน้อยมาก รีบทำกันตอนนี้ยังพอมีเวลาทราบดีว่าครีมบางชนิดมีปัญหา อุทยานต้องรีบมาดูแล และถ้าช่วยกันอีกนิด จะทำให้ระเบียบทำได้ง่ายขึ้น ทุกคนปฏิบัติได้ ทะเล คนเที่ยวทะเล คนดูแลทะเล จะมีความสุขครับ” นายธรณ์ระบุ.