เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) เป็นเชื้อที่นำโดยปรสิต ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ มักพบในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะแถบชายแดนไทย-เมียนมา พบการติดเชื้อประปราย ปัจจุบันประเทศไทยพบเชื้อนี้น้อยลง ค่อนข้างควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะในเมืองที่ไม่มียุงก้นปล่อง จะไม่เกิดปัญหา ซึ่งโรคมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่นของไทยแต่มีอัตราการเกิดโรคที่น้อยแล้ว ทั้งนี้ เดิมเรียกว่าโรคไข้จับสั่น หรือไข้ป่า เพราะจะเกิดไข้หนาวสั่น วันเว้นวัน บางครั้งเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย หรือเชื้อขึ้นสมอง ทำให้สมองอักเสบ หมดสติ ชักเกร็ง ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อติดเชื้อก็ต้องรีบรักษาทันที

โรคไข้มาลาเรียมี 2 แบบคือ 1.การป่วยไม่เรื้อรัง 2.การป่วยเรื้อรัง ซึ่งการป่วยแบบเรื้อรังมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ มีทั้งแบบเป็นๆ หายๆ เพราะเชื้อไปหลบซ่อนอยู่ในตับ จะมีอาการออกมาเป็นระยะๆ ได้ แม้ไม่โดยยุงกัดซ้ำก็มีอาการได้ อย่างไรก็ตาม โดยเชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่ 1.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัม (P.falciparum) หรือ พีเอฟ (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ 2.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์ (P.vivax) หรือ พีวี (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ 3.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ (P.malariae) หรือ พีเอ็ม (P.m.) 4.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล (P.ovale) หรือ พีโอ (P.o.) และ 5.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ (P.knowlesi) หรือ พีเค (P.k.) เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน

“โรคนี้เป็นโรคที่นำโดยยุง ต้องมียุงมากัดจึงจะมีเชื้อ ปัจจุบันโรคไข้มาลาเรียในไทยลดลงเยอะ 1-2 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นปีแรกที่เสียชีวิต 1 ราย แต่ปีนี้มีเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในชายแดน ก็มีติดเชื้อบริเวณนั้นเล็กน้อย แต่ไม่เยอะ อย่างที่เคยมีมาลาเรียโนวไซที่เจอในลิง ตอนนี้ควบคุมได้แล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลโรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 ส.ค.65 พบผู้ป่วยสะสม 5,834 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทั้งนี้ จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ ตาก 3,451 ราย แม่ฮ่องสอน 924 ราย และกาญจนบุรี 503 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 64 ถึง 2.8 เท่า ในจำนวนนี้ เป็นคนไทย 2,623 ราย คิดเป็น ร้อยละ 45 ต่างชาติ 3,211 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 25-44 ปี ร้อยละ 27.8 กลุ่มอายุ 15-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 26.5 กลุ่มอายุ 5-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 23.2 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 48.5 รับจ้าง ร้อยละ 24.4 และเด็ก/นักเรียน ร้อยละ 24.1.