เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับมอบหมายจากคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ในการเป็นประธานเปิดการเผยแพร่องค์ความรู้และแสดงผลงานดีเด่น ด้าน Coding “Coding Achievement Awards” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หอประชุมไทรทอง โรงเรียนสตรีศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ Coding ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่งเสริมให้โรงเรียนต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ Coding เป็นรายวิชาพื้นฐานในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ฉบับปรับปรุง 2560 นอกจากนี้ สถานศึกษาจำนวนมากได้ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนด้วยการจัดรายวิชาเพิ่มเติมตามความสนใจของผู้เรียนในตลอดช่วงเวลา 4 ปี ที่มีการประกาศใช้หลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ที่มีการขับเคลื่อนในระดับมหภาค ด้วยการนำของ “คุณหญิงโค้ดดิ้ง” คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ถือเป็นช่วงเวลาที่ครูผู้สอนได้สั่งสมประสบการณ์ การจัดการเรียนรู้ และสามารถนำการจัดการเรียนรู้ของตนเอง มาพัฒนาเป็นผลงานที่โดดเด่นด้าน Coding ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบอย่างให้กับครูผู้สอนตลอดจนผู้ที่มีความสนใจ

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การจัดการเรียนการสอน Coding เป็นกระบวนการ Active Learning ที่นักเรียนได้คิด ลงมือปฏิบัติ ออกแบบหรือนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเขียนโปรแกรมเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน พร้อมทั้งนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ดำเนินการ และเมื่อเจอสถานการณ์ นักเรียนก็แสดงให้เห็นถึงการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผล ภายใต้กรอบเงื่อนไข และเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งกติกาไว้ทำให้สามารถนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กรอบกติกา แต่มีอิสระในการคิดถึงเป้าหมายความสำเร็จได้ ถือว่าเป็นการจำลองสถานการณ์ของสังคม ซึ่งสามารถไปถึงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนตามหลักสูตรชาติได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม รวมทั้งนักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ อยากเรียนรู้ เรียนแบบเล่น เล่นแบบมีเหตุผล เข้าถึงนักเรียนได้เป็นอย่างดี

“เราต้องร่วมด้วยช่วยกันทำเรื่องที่เข้าใจยาก ให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและต่อยอดให้เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ เมื่อถึงปลายทาง จะเกิดความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง และเมื่อใดก็ตามที่นักเรียนมีภูมิคุ้มกัน มีการคิดเชิงระบบ มีการวางแผน มีขั้นตอน มีกระบวนการ จะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้เป็นระบบและต่อยอดสู่การสร้างผลงานเชิงประจักษ์ โดยขอฝากให้คุณครู บูรณาการเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อให้นักเรียน ได้รู้ เข้าใจ รักษ์ถิ่นฐาน ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง โดยใช้รูปแบบวิธีการที่หลากหลาย ปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยี คอนเทนต์ต่างๆ เป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ให้เข้ากับยุคสมัย ควบคู่ไปกับการนำความรู้ ความสามารถหรือความถนัดที่แตกต่างกันของครูแต่ละคน มาบูรณาการใช้ร่วมกัน ผ่านการ PLC เพื่อจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ตามความถนัด และความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องบูรณาการให้หลากหลายวิชา เพื่อลดเวลาทั้งของครูและนักเรียน แต่ต้องมีคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ พร้อมทั้งปลูกฝัง บ่มเพาะการคิดเป็นระบบ รู้จักปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคม มีความยืดหยุ่นในตัว โดยถอดความคิดจาก Coding ในเรื่องกฎกติกา เงื่อนไขในคำสั่ง เป้าหมายผลสำเร็จ นำมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพของนักเรียนที่ต้องอยู่ในสังคมแบบมีกติกา แต่สำเร็จได้ภายใต้ความมีความสุขของสังคม และเมื่อเรียนรู้แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร จะประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้หรือไม่ เพราะการเรียนรู้ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตได้ นั่นคือการเรียนรู้ที่สมบูรณ์” ดร.เกศทิพย์ กล่าว

สำหรับผลงานดีเด่น ด้าน Coding ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือการเน้นวัฒนธรรม ภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้ รวมถึงเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ อันเป็น soft power ที่ทรงพลังของชาติ มาใช้จัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม สามารถบูรณาการตัวชี้วัด ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จาก 119 ผลงาน สู่ 40 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากแผนการจัดการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับรายละเอียดของ วPA ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบอย่างได้ ทั้ง Unplugged Coding และ Plugged Coding ในจุดนี้ขอชื่นชมทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในผลงานอันประจักษ์นี้ ตั้งแต่ สพม.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ไปจนถึง สพป.ร้อยเอ็ด ทั้ง 3 เขต ศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และคุณครู ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจนเกิดสมรรถนะของผู้เรียน