นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symphosium 2022 จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรื่องวิกฤตพลังงานและแผนของประเทศว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย(รวมค่าไฟฐาน)ที่ประชาชนต้องจ่ายในระดับต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยคงจะไม่ได้เห็นอีกแล้วเนื่องจากเชื้อเพลิงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยพึ่งพิงก๊าซฯ อ่าวไทยที่ราคาต่ำในสัดส่วนที่สูงได้ปรับลดลงจากปริมาณก๊าซฯ ที่จำกัด ส่งผลให้ไทยมีการนำเข้ามากขึ้นจากต่างประเทศโดยเฉพาะรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัดส่วนที่มากขึ้นในการผลิตไฟ
“ครึ่งแรกของปี2565(ม.ค.-มิ.ย.) ไทย ใช้ก๊าซฯLNG ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนเกือบ30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า จากปี 2563 ที่ใช้ก๊าซLNG ผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ18% ซึ่งLNG ที่นำเข้าในปีนี้ เป็นลักษณะสัญญาระยะสั้นSpotLNG ราว 50% ที่มีราคาแพงมาก
และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปรับสูงขึ้นจากอดีต ขณะที่การนำเข้าแบบสัญญาระยะยาวเองทางผู้ขายก็มักจะไม่ทำสัญญาในระยะหลังเพราะการขายตลาดจรได้ราคาสูงกว่า ซึ่งราคาแอลเอ็นจี คิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟราว 10 บาทต่อหน่วย ขณะที่ก๊าซอ่าวไทยอยู่ที่เพียง 2-3 บาทต่อหน่วย และน้ำมัน 6 บาทต่อหน่วย” นายคมกฤชกล่าว
ปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ได้ปรับขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟไทยทำให้ค่าไฟเฉลี่ยต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งยอมรับว่าหากดูจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงมีทิศทางผันผวนแนวโน้มก็ยังคงต้องปรับตัวสูงขึ้นแต่จะมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณที่จะเร่งบริหารจัดการให้การผลิตเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับปกติ ประกอบกับขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้แบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนช่วงที่ผ่านมาแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท
สำหรับการปรับตัวในช่วงวิกฤตราคาพลังงานแพง กกพ.ได้มีการบริหารทั้งระยะสั้น เช่น ลดการใช้ Spot LNG โดยพิจารณาใช้เชื้อเพลิงอื่นในการผลิตไฟฟ้า เช่น น้ำมันเตา และดีเซล ระยะกลาง เช่น รับซื้อพลังงานหมุนเวียน (RE) ตามสัญญาใหม่ ระยะยาว เช่น ทบทวนแผนพลังงานให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิง เป็นต้น