ประกาศศักดาบนเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2565 ได้อย่างสุดยอดจริงๆ สำหรับทีม มดไฟ@FIET จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เพิ่งไปคว้า รางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2565 จัดโดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขัน ABU ROBOT CONTEST THAILAND CHAMPIONSHIP 2022 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) มาอย่างสดๆร้อนๆ

เมื่อเจอหนุ่ม-สาวในรั้วมหาวิทยาลัย มีผลงานเจ๋งๆแบบนี้ มีหรือที่ทีมงาน “Campus Life” จะพลาด ว่าแล้วก็บุกไปที่ มจธ. ทำความรู้จักกับทีม “มดไฟ@FIET” ซึ่งประกอบด้วย “เทล” ชนุดร เชื้อพราหมณ์ “ณัฐ” ณัฐพงศ์ เยี่ยมชัยภูมิ “เชค” ศิรสิทธิ์ ตัณฑะเตมีย์ “ภูมิ” ธนภูมิ เรืองไพศาล “สอ” สรวิชญ์ ศรีใหม่ “ปาล์ม” ธนวัฒน์ เรืองอริยฉัตร “เอก” กำธร โทนสังข์อินทร์ และ “อนีส” อนีส สายสลาม ภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. พร้อมเจาะลึกความรู้สึกที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับประเทศกันเลย

เริ่มต้นที่ “เทล” ในฐานะหัวหน้าทีม และทำหน้าที่เดินวงจรไฟฟ้า เล่าว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันออกแบบหุ่นยนต์ในภารกิจ พิชิตวัฏจักรหอคอย สู่แดนภารตะ ภายใต้กติกาคือ ในหนึ่งทีมจะมีหุ่นยนต์ 2 ตัว ช่วยเหลือกันทำภารกิจทำลายหอคอยของคู่แข่งขันให้ได้อย่างน้อย 1 หอคอย โดยหุ่นยนต์ต้องอยู่ห่างจากหอคอย 3.5 เมตร หุ่นยนต์ R1 ต้องยิงไปที่ Ball on head ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่ง Ball on Head จะติดอยู่ที่หัวของหุ่นยนต์ที่อยู่สูงจากพื้น 1.3 เมตร และมีระยะห่าง 3.5 เมตร ส่วนหุ่นยนต์ R2 ต้องหยิบหอคอยจากพื้น แล้วนำขึ้นมาวางต่อกันให้ได้ หากสามารถวางหอคอยเรียงต่อกันและลูกบอลไม่ตกจากหุ่นยนต์จะได้คะแนน โดยต้องทำภารกิจภายในเวลา 1 นาที ซึ่งกว่าจะออกแบบหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัว เรามีการคิดค้นและทดลองมาเยอะมาก ตั้งแต่แรกเริ่มคือการออกแบบโครงสร้าง การเขียนโปรแกรม การออกแบบระบบกลไกต่างๆของหุ่นยนต์ ทดลองยิง ทดลองเล่น จนกระทั่งมาลงตัวที่หุ่น 2 ตัวนี้ ซึ่งในอนาคตต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

“ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ในทีมแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบว่าจะทำอะไรบ้าง คือเรียนไปด้วยและออกแบบหุ่นยนต์ไปด้วย โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ การที่ได้ร่วมลงแข่งขันในครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องวงจรที่ซับซ้อนขึ้น ได้ลงมือทำจริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เมื่อจบออกไปแล้วไปสอนเด็กได้” “เทล” กล่าว


ด้าน “เชค” บอกว่า ตนกับ “ณัฐ”, “สอ” และ “อนีส” รับหน้าที่ด้านโครงสร้าง ซึ่งการเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ป็นประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะความรับผิดชอบในเรื่องโครงสร้างซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบ แม้ว่าเคยเรียนในห้องเรียนมาแล้วแต่การลงมือปฏิบัติจะทำให้ได้เรียนรู้ของจริง เราสามารถนำทฤษฎีจากในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบหุ่นยนต์ บางอย่างอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามปัญหาที่เกิดขึ้นและได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมซึ่งทำให้รู้สึกประทับใจ ทั้งนี้การทำหน้าที่โครงสร้างนอกจากจะจัดหาอุปกรณ์แล้ว ยังต้องออกแบบอุปกรณ์ในเรื่องความปลอดภัยด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเครื่องมือช่างแต่ละชนิดถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่แตกต่างกัน การได้รับรางวัลในครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจมาก

ปิดท้ายที่ “ปาล์ม” และ “ภูมิ” บอกว่า ทำหน้าที่ติดตั้งโปรแกรม โดยมี “เอก” ซึ่งทำหน้าที่เดินวงจรไฟฟ้าอีกหนึ่งคน การร่วมเข้าแข่งขันครั้งนี้สะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ในเรื่องการเขียนโค้ดดิ้ง และการเดินวงจรไฟฟ้า โดยทุกคนในทีมมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ได้หุ่นยนต์สมบูรณ์แบบที่สุดในการแข่งขัน ประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและการทำงานในอนาคตได้ รู้สึกดีใจที่เป็นได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในครั้งนี้

ถึงแม้ว่าจะสร้างผลงานได้อย่างสุดยอดทั้ง 2 เวทีการแข่งขัน แต่สิ่งหนึ่งที่หนุ่มๆทีม “มดไฟ@FIET” เห็นตรงกันก็คือ การได้นำความรู้จากการเรียนมาทดลองใช้จริง และประสบการณ์จากการแข่งขัน ซึ่งไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน…