เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม มอบหมายให้ นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2565 โดยมี นางสาวชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คณะกรรมการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วม ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) อ.ศาลายา จ.นครปฐม สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 12 เรื่อง ประกอบด้วย

1. กิจการในกระทรวงพาณิชย์ และ คมนาคม THE ACTIVITIES OF THE MINISTRY OF COMMERCE AND COMMUNICATIONS (2470-2472) ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ทรงเป็นนักนิยมภาพยนตร์และนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์สมัครเล่นนานาชาติ ทรงสนใจการใช้ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา ทรงถ่ายและใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมในกรมทหารที่ทรงเป็นผู้บังคับบัญชา และต่อมา เมื่อทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว ขึ้นในกรมรถไฟหลวงตั้งแต่ปี 2465 นับเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตและใช้ภาพยนตร์ของรัฐแห่งแรกๆ แห่งหนึ่งในโลก

2. ตัดหัวต่อหัว (2470-2473) ผู้สร้าง พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ถ่ายทำในราวต้นทศวรรษที่ 2470 มีด้วยกัน 3 เรื่อง ไม่ปรากฏชื่อเรื่องทั้งสามเรื่อง เป็นกลเม็ดการถ่ายซ้ำซ้อน (double exposure) เรื่องแรกยาว 5 นาที ถ่ายเด็กหญิงทำท่าว่ายแหวกอยู่ใต้น้ำ ในฉากหลังดำ ซ้อนทับกับการถ่ายผ่านกระจกตู้ปลา เพื่อให้เห็นเป็นเด็กหญิงดำน้ำ เรื่องที่สอง ยาว 3 นาที เป็นการพรางแสงด้วยฉากดำ เล่าเรื่องชายคนหนึ่งนั่งเล่นไพ่อยู่คนเดียว แล้วถอดหัวตัวเองไปวางที่เก้าอี้ตรงข้ามเพื่อเล่นไพ่กับตนเอง จุดบุหรี่ให้หัวตัวเองสูบ แล้วเอาหัวกลับมาต่อตามเดิม เรื่องสุดท้ายเป็นการทดลองถ่ายจัดแสงบังเงาและถ่ายซ้ำซ้อนภาพ เป็นเด็กหญิงซึ่งมีหัวเป็นคนอื่นกำลังร่ายรำ ยาว 41 วินาที

3. ดรรชนีนาง (2496) ดรรชนีนาง มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบทประพันธ์ที่สร้างสรรค์จากจินตนาการของ “อิงอร” หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม นักประพันธ์ชั้นครู เจ้าของสำนวนหวานหยดย้อย อันนำมาซึ่งฉายา “ปากกาจุ่มน้ำผึ้ง” ในนวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ เขาได้วาดเรื่องราวของ ดรรชนี หญิงสาวชาวใต้ ที่พบรักกับนายทหารเรือผู้สูงศักดิ์ ม.จ.นิรันดร์ฤทธิ์ธำรง โดยมีทิวทัศน์ของจังหวัดสงขลา บ้านเกิด เป็นฉากหลักของเรื่อง และมีบทประพันธ์เรื่อง “เต็ลมา” ของแมรี่ คอเรลลี เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ

4. งานอภิเษกพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต (2496) ภาพยนตร์กำพร้าที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง หอภาพยนตร์พบฟิล์มนี้จากการประกาศขายออนไลน์ ก่อนที่ภายหลังจะได้รับการเอื้อเฟื้อข้อมูลต่าง ๆ จากคุณพุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี แห่งหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และคุณวัฒภูมิ ทวีกุล แห่ง Assumption Museum จึงทราบว่าเป็นภาพยนตร์บันทึกพิธีอภิเษกพระสังฆราชมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต แห่งมิสซังท่าแร่-หนองแสง เมื่อ พ.ศ. 2496 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นประวัติการณ์ของวงการศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

5. การประกวดการจัดบ้านและบริเวณ (2497) ปี 2496 สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ในสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มอบให้สโมสรสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของสำนัก และเป็นสถานที่ให้ความรู้รอบตัวแก่หญิงไทย ดำเนินการประกวด “การจัดบ้านและบริเวณ” ขึ้น เพื่อให้หญิงไทยได้แสดงสมรรถภาพในการจัดที่อยู่อาศัยให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีระเบียบในการวางเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งบ้านเรือนให้เหมาะสม รู้จักจัดบริเวณบ้าน ตลอดจนการจัดทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่จะให้ประชาชนอยู่ดีกินดี นับเป็นครั้งแรกที่มีการประกวดการจัดบ้านและบริเวณขึ้นในประเทศไทย โดยกำหนดจัดประกวดเฉพาะบ้านในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี

6. จอมพลสฤษดิ์ไปอเมริกา (2501) ภาพยนตร์บันทึกภาพการเดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2501 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี แต่ก็ถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองไทยในขณะนั้น

7. เด็กกับหมี The Children and the Bear (2502) ผลงานภาพยนตร์การ์ตูนหรือแอนิเมชัน โดย ปยุต เงากระจ่าง ซึ่งสำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ ที่ปยุตเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลป์ของหน่วยงานอยู่ ได้ให้ปยุตไปดูงานและรับการฝึกอบรมการทำภาพยนตร์การ์ตูนที่โรงถ่ายโตโฮ ประเทศญี่ปุ่น และได้มอบหมายให้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยไปถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่น 2 เรื่อง คือ หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่ เมื่อปี 2500 และเรื่อง เด็กกับหมี เมื่อปี 2502 ซึ่ง เด็กกับหมี เป็นภาพยนตร์ที่ทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ในประเทศไทยและประเทศฝ่ายโลกเสรีหรือค่ายประชาธิปไตยในสงครามเย็น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนหรือเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันแห่งเอเชียอาคเนย์ หรือ ซีโต (Southeast Asia Treaty Organization) (SEATO) เมื่อปี 2497

8. มันมากับความมืด (2514) เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ อันเป็นแนวทางที่แปลกแตกต่างจากหนังไทยทั่วไปในตอนนั้น เล่าเรื่องราวของ ธงชัย นักวิทยาศาสตร์ และ เสก ลูกศิษย์หนุ่ม ไปตรวจสอบปรากฏการณ์หินอุกกาบาตตกลงมาที่หมู่บ้านคนน้ำ แต่กลับพบว่า หมู่บ้านคนน้ำได้กลายเป็นหมู่บ้านร้างไปภายในชั่วข้ามคืน เหลือเพียงเศษโครงกระดูกของชาวบ้านเท่านั้นที่เป็นร่องรอยของเบาะแส ในขณะที่บางคนที่ตายไปแล้วก็กลับกลายเป็นศพเดินได้ เที่ยวออกอาละวาดปล่อยลำแสงทำลายล้างผ่านทางดวงตา กระทั่งได้พบกับชิ้นส่วนผิวหนังและนำมาตรวจ จึงรู้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตจากนอกโลก

9. แหวนทองเหลือง (2516) เป็นผลงานที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือ “เสด็จพระองค์ชายเล็ก” แห่งวงการภาพยนตร์ไทย ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ แหวนทองเหลือง สร้างจากบทประพันธ์ของ บุษบง นารถสุดา อันเป็นพระนามแฝงของพระองค์เอง เล่าเรื่องราวของ ดวงใจ หญิงสาวชาวเหนือที่มีสัมพันธ์รักกับ กฤษฎา นายทหารหนุ่มรูปงามฐานะสูงส่งจากเมืองกรุง โดยเธอได้มอบแหวนทองเหลืองวงหนึ่งไว้ให้เขาเป็นของแทนใจ แต่อยู่ๆ กฤษฎากลับหายตัวไปในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังระอุ

10. เทพธิดา บาร์ 21 (2521) เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ ยุทธนา มุกดาสนิท ดัดแปลง มาจากบทละครเรื่อง “เกียรติของโสเภณี” ของ ฌอง ปอล ซาร์ต นักปรัชญาคนดังของฝรั่งเศส และปรับให้เข้ากับบริบทของไทย โดยร่วมเขียนบทกับหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล กลายมาเป็นเรื่องราวที่ดำเนินไปใน “บาร์ 21” บาร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีพาร์ทเนอร์อยู่ 9 คน หนึ่งในนั้นคือ รินดา หญิงสาวผู้ผิดหวังในความรัก และบังเอิญเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมบนรถไฟ จนทำให้รู้จักกับ สิงห์ หนุ่มบ้านนอกที่เดินทางมาหางานทำในกรุงเทพฯ ต่อมาเธอได้พบกับ ทนง ชายหนุ่มแสนดีและร่ำรวย ผู้หาทางมาใกล้ชิดกับเธอ โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วเขาหวังผลประโยชน์บางอย่างจากความเป็นคนซื่อของเธอ

11. ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) เป็นผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของนักเรียนสาวร่วมชั้นของห้อง 2 รุ่น 44 ของโรงเรียนสตรีอรุณรัชต์วิทยา หลังจากที่ต่างคนต่างแยกย้ายไปตามทางของตนเองเมื่อสำเร็จการศึกษา ผ่านตัวละครหลักคือ รำยง หญิงสาวผู้ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่ผู้ชาย และเลือกประกอบอาชีพเป็นนักข่าวโทรทัศน์ โดยในยุคสมัยที่ภาพยนตร์นี้ออกฉายนับว่าเป็นยุคที่เกิดการปฏิรูปการทำข่าวโทรทัศน์ จากแต่เดิมในอดีตข่าวโทรทัศน์จะถูกจำกัดอยู่ในจารีตแบบข่าวทางราชการ ผ่านการนั่งอ่านรายงานอย่างเคร่งขรึมของผู้อ่านข่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ประกาศชาย แต่หลังจากราวปี 2530 เป็นต้นมา จึงเกิดการปรากฏตัวของผู้สื่อข่าวทางโทรทัศน์รายงานข่าวโดยตรงจากสนามข่าวสู่ผู้ชม ตัวละครนักข่าวโทรทัศน์หญิงสาวจึงนับเป็นตัวละครที่ร่วมยุคสมัยในขณะนั้นมาก

12. October Sonata รักที่รอคอย (2552) เป็นหนังรักสามเส้าโศกสลดในชะตากรรมหัวใจอันพลัดพราก หากแต่ผู้กำกับและผู้เขียนบท สมเกียรติ์ วิทุรานิช ทำให้หนังรักเรื่องนี้เต็มไปด้วยมิติของช่วงเวลาและการเดินทางของตัวละคร เริ่มตั้งแต่การใช้เหตุการณ์สั่นสะเทือนทางการเมืองและประวัติศาสตร์ของเดือนตุลาคมในช่วงทศวรรษ 2513-2520 เป็นฉากหลัง รวมทั้งยังใช้เหตุการณ์การเสียชีวิตของ มิตร ชัยบัญชา เป็นจุดตั้งต้นของเรื่องราวความรักและเป็นหมุดหมายของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดแต่ละเรื่องได้ที่ https://fapot.or.th/main/information/ebook