นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยว่า ขณะนี้การออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกในส่วนของโครงสร้างหลักเสร็จเรียบร้อยพร้อมก่อสร้าง ส่วนการออกแบบรายละเอียดของโครงการต่างๆ ภายในเมืองการบิน อยู่ระหว่างออกแบบ อย่างไรก็ตาม การจะเริ่มก่อสร้างได้นั้น ต้องพิจารณาความพร้อมเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนเริ่มก่อสร้างตามข้อตกลงในสัญญา อาทิ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ), การก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับที่ 2 และข้อตกลงกับรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพราะสนามบินต้องเป็นหนึ่งในสถานีของรถไฟไฮสปีดฯ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า คาดว่า UTA จะได้รับพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 6 พันไร่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 66 (ม.ค.-มี.ค. 66) จากนั้น UTA จะเริ่มปรับพื้นที่ และคาดว่าจะตอกเสาเข็มก่อสร้างได้ภายในไตรมาสที่ 1 โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี จะแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 69 อย่างไรก็ตาม โครงการฯ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาในเรื่องต่างๆ อาทิ อีไอเอ ที่มีมาตรการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด จึงลงพื้นที่สำรวจไม่ได้ ส่งผลให้งานในภาพรวมล่าช้าออกไปประมาณ 1 ปี จากเดิมจะเริ่มก่อสร้างปี 65 ต้องขยับเป็นปี 66

นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้ยังมีรายละเอียดบางเรื่องที่ต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน เพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตัวเลขปริมาณผู้โดยสารด้วย ซึ่งจากการที่ UTA ประเมินตัวเลขใหม่อีกครั้ง พบว่า การเติบโตของผู้โดยสารท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะไม่รวดเร็วเหมือนกับที่ประเมินไว้ช่วงแรก ดังนั้นอาจต้องปรับแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา จากเดิมแบ่งเป็น 4 ระยะ (เฟส) ปรับเป็น 6 เฟสแทน แต่ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานอู่ตะเภา ยังคงเท่าเดิมที่ 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังต้องครบครันเหมือนเดิม

นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า UTA ได้เสนอการปรับแผนดังกล่าวไปยัง สกพอ. แล้ว ซึ่งการลงทุนยังเหมือนเดิม เพียงแต่ค่อยๆ ลงทุนภายในสัมปทาน 50 ปี อีกทั้งการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารควรมีขีดความสามารถในการรองรับที่เหมาะสม เป็นไปตามสถานการณ์จริง โดยเฟสแรกนั้น ได้ปรับขนาดอาคารผู้โดยสารให้เล็กลงจากเดิมเล็กน้อย แต่ขีดความสามารถในการรองรับยังคงอยู่ที่ 10-15 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากคุยกับภาครัฐเบื้องต้นก็ต้องการให้ขีดความสามารถเท่าเดิมที่ 15 ล้านคนต่อปี ส่วนมูลค่างานก่อสร้างเฟสแรกนั้น อยู่ระหว่างคำนวณว่าเป็นเท่าใด อย่างไรก็ตาม การปรับแผนงานต่างๆ ไม่ต้องแก้ไขสัญญา เพียงแค่หารือร่วมกัน และทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงทำให้ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริงๆ ส่วนสัมปทาน 50 ปีนั้น จะเริ่มนับตั้งแต่การส่งมอบพื้นที่เพื่อเริ่มก่อสร้าง

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า แม้จะขยับแผนพัฒนาเป็น 6 เฟส แต่หากผู้โดยสารกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด โดยกลับมาประมาณ 80% ของขีดความสามารถในการรองรับของอาคารผู้โดยสาร ทาง UTA จะเริ่มดำเนินการในเฟสต่อไปทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผู้โดยสารแออัด อย่างไรก็ตามเหตุการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 63 กว่าเหตุการณ์จะกลับมาปกติต้องใช้เวลา 4-5 ปี ดังนั้นทุกเรื่องจึงต้องใช้เวลา ซึ่งสัญญาหลักในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ยังมีอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ต้องคุยกัน เพราะเป็นสัญญาร่วมลงทุนที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องช่วยกันดำเนินการให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง UTA ก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นต้องมาคุยกันทำความเข้าใจกัน เพื่อดำเนินการตามสถานการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายคิดว่าสมเหตุสมผล

นายพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คนใหม่นั้น มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อโครงการฯ เพราะเชื่อมั่นว่าเจตนารมณ์ของอีอีซี ก็อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ น่าจะเจรจา และหารือร่วมกันได้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 2.9 แสนล้านบาท ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อ.บ้านฉาง จ.ระยอง สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศ ทั้งขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า มีทางวิ่ง (รันเวย์) 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร รองรับเครื่องบินได้ทุกขนาด มี 124 หลุมจอดอากาศยาน ส่วนอาคารผู้โดยสารเมื่อก่อสร้างครบ 4 เฟส จะมีพื้นที่กว่า 4.5 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้แผนพัฒนาโครงการเฟสที่ 1 วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท มีอาคารผู้โดยสาร ขนาดพื้นที่กว่า 1.57 แสน ตร.ม. อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และ 60 หลุมจอดอากาศยาน.