เมื่อวันที่ 20 ส.ค.64 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกทม. ตรวจเยี่ยมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เขตประเวศ บริเวณอาคารศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนองบอน สำนักการระบายน้ำ และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เขตลาดพร้าว แห่งที่ 2 บริเวณบริษัท อาร์ บี เอส โลจิสติกส์ จำกัด โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตประเวศ เขตลาดพร้าว สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล
ปลัดกทม. กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.ได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation (CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต รวมทั้งสิ้น 70 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 9,390 เตียง เปิดรับผู้ป่วยแล้ว 64 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค.64) โดยแยกผู้ป่วยโควิด-19 ออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน

นอกจากนี้ได้จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก หรือ Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team (Bangkok CCRT) ลงพื้นที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต เพื่อตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทำให้สามารถแยกผู้ป่วยออกมาได้เร็วขึ้น พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ หรือ Home Isolation (HI)
โดยจะจ่ายยาและมอบอุปกรณ์พยาบาลในเบื้องต้น เช่น เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องวัดไข้ ถุงสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ และมีเจ้าหน้าที่ติดตามอาการทุกวัน ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ จะนำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation (CI) โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน แพทย์แผนไทย และศูนย์บริการสาธารณสุข ในการดูแลบริหารจัดการผู้ป่วย รวมทั้งประสานฝ่ายความมั่นคง ร่วมดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ทั้งนี้ กทม.ได้ยกระดับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต หรือ Community Isolation Plus (CI Plus) จำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 990 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค.64) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับการรักษาจนหายและกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวได้มากขึ้น.