สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ว่า กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ออกแถลงการณ์ ยืนยันการยกเลิกใบอนุญาตเดินทางของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในรัฐบาลปาเลสไตน์ และพรรคฟาตาห์ ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือ นายริอัด อัล-มัลกี รมว.การต่างประเทศปาเลสไตน์


ขณะที่รัฐบาลปาเลสไตน์ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เพิ่งได้รับแจ้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอิสราเอลเพิกถอนสิทธิดังกล่าวต่อ อัล-มัลกี ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลปาเลสไตน์ สามารถเดินทางเข้าและออกเขตเวสต์แบงก์ได้อย่างสะดวก แตกต่างจากประชาชนทั่วไป


ด้านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอิสราเอลมีมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ระงับการโอนเงินภาษีศุลกากรมูลค่า 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,309.62 ล้านบาท) ของเดือนล่าสุด ซึ่งทางการอิสราเอลเรียกเก็บจากสินค้าที่ส่งไปยังตลาดปาเลสไตน์ ผ่านท่าเรือของอิสราเอลในนามรัฐบาลปาเลสไตน์ เพื่อตอบโต้กรณีสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือ “ศาลโลก” เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ผลกระทบทางกฎหมาย” จากการยึดครองและเดินหน้าขยายอาณาเขตของอิสราเอล “บนดินแดนของปาเลสไตน์”


ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวว่า รัฐบาลเทลอาวีฟไม่มีทางยอมรับมติดังกล่าวของยูเอ็นจีเอ เนื่องจาก “ชนชาติยิวจะเป็นผู้ยึดครองดินแดนที่เป็นของตนเองได้อย่างไร” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาณาเขตทั้งหมดของนครเยรูซาเลม” ซึ่งถือเป็น “เมืองหลวงของอิสราเอล”


อนึ่ง ศาลโลกเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการยึดครองและขยายอาณาเขตของอิสราเอลมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2547 ว่า การตั้งแนวกั้นระหว่างพรมแดน “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” อย่างไรก็ตาม อิสราเอลไม่เคยปฏิบัติตามมติดังกล่าว.

เครดิตภาพ : REUTERS