ตลาดแรงงานโลก…กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงาน 85 ล้านตำแหน่งจะหายไป ขณะเดียวกันยังมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง หักลบกลบหนี้กันแล้วดูเหมือนไม่หนักหนาสาหัส

แต่!! ในความเป็นจริงแล้วทั่วโลกกำลังประสบปัญหาแรงงานในวงกว้าง คนจำนวนมากอาจไม่มีงานทำ และงานจำนวนมากจะไม่มีคนทำ เพราะขาดทักษะที่ต้องการ ทักษะที่มีในปัจจุบันอาจไม่เพียงพออีกต่อไป สอดคล้องกับข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก ย้ำชัดว่า 40% ของคนทำงานต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน และ 50% ของคนทำงานต้องเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ ไม่เช่นนั้นมีปัญหาในอนาคตแน่!

เผยแรงงานไม่สมดุล

ขณะที่ผลสำรวจของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก ได้สำรวจแนวโน้มการจ้างงานปี 66 พบว่าผลสำรวจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยโรเบิร์ตระบุว่า เทรนด์การจ้างงานในปี 66 ต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดการจ้างงานและเป็นอาชีพที่ได้รับผลตอบแทนที่น่าจูงใจจากบริษัทต่าง ๆ ซึ่งนายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แข่งขันได้เพื่อรักษาการจ้างงานในกลุ่มพนักงานที่มีจำนวนน้อยเหล่านี้ไว้ให้ได้

ปัญหานี้…ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทย เพราะปัจจุบันไทยกำลังเผชิญปัญหาความไม่สมดุลของแรงงาน บางสาขาแรงงานขาด บางสาขาลดแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ล่าสุด! จากสถิติคนไทยประสบปัญหาการว่างงานเกือบ 6 แสนราย โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เข้ามาเติมใหม่ทุกปี ขณะเดียวกันในบางสาขากลับพบว่าขาดแคลนกว่า 4-5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไร้ทักษะในกลุ่มงานที่คนไทยไม่ทำ ส่วนใหญ่เป็นการขาดแคลนในกลุ่มต่างด้าว

ดังนั้น!! จึงกลายเป็นปัญหาที่ท้าทายภาคแรงงาน ทั้งในกลุ่มจบใหม่ หรือแม้แต่บรรดามนุษย์เงินเดือน ที่ในยุคนี้สมัยนี้ต้องกอดงานให้เหนียวแน่นที่สุด หากหลุดไปแล้วยากจะกลับคืน หางานใหม่ก็ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่อาวุโสสูงเงินเดือนสูง!! เพราะทุกวันนี้แรงงานหน้าใหม่ที่กำลังมาแรง อย่าง “หุ่นยนต์เอไอ” ที่เริ่มมีบทบาทสำคัญเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์มากขึ้น ด้วยคุณสมบัติเด่น ลงทุนครั้งเดียวไม่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม ไม่มีปากไม่มีเสียงเรียกร้อง ไม่ลาคลอด ไม่ลาบวช ทำงานฝีมือสม่ำเสมอ

นั่นหมายความว่า…แรงงานมนุษย์มีคู่แข่งสำคัญ ทั้งตัวมนุษย์เอง และหุ่นยนต์เอไอระบบออโตเมชั่น!!! ดังนั้นคนกำลังตัดสินใจเลือกเรียนสาขาหรือบัณฑิตจบใหม่ ต้องรู้ว่าควรมีสกิล มีทักษะ หรือมีความสามารถด้านใดถึงจะเป็นที่ต้องการ หากมีงานทำอยู่แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งต้องอัพสกิล รีสกิลอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้มีงานทำต่อไป

สายงานไอทีดิจิทัลครอง

“จ็อบส์ ดีบี” ได้สำรวจวิเคราะห์พบว่าสายงานที่ฮอตมากจนถึงทุกวันนี้ยังคงเป็นสายงานไอที ดิจิทัล แต่จะเฉพาะเจาะลึกลงไปที่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น เน็ตเวิร์ก แอนด์ ซิสเต็ม โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เว็บ เดเวลลอปเปอร์ ซึ่งกลุ่มทำงานไอทียังคงเป็น “มนุษย์ทองคำ” ที่ตลาดชิงตัวและเป็นสายงานอันดับ 1 ที่ได้เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด เนื่องจากหลายบริษัทยังคงมองหาคนเก่งเข้าทำงาน และไม่ใช่แค่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพร้อมจ่ายเงินเดือนสูงให้กับคนเก่งด้านไอที

อีกสายงานหนึ่ง!! ที่เปิดรับสมัครมากที่สุด เป็นกลุ่มสายงานที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจ เช่น สายงานขาย ยิ่งถ้ามีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือ มีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจที่กำลังเปิดรับ และมีความรู้ด้านดิจิทัลประกอบด้วย ยิ่งได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ หรือมีการแย่งชิงตัวกันด้วยข้อเสนอต่าง ๆ ที่มากขึ้นหรือเป็น กลุ่มดาต้า นักวิเคราะห์ข้อมูล ที่กำลังขาดแคลนและเป็นเสมือนมันสมองขององค์กร เป็นอีกสายงานหนึ่งที่น่าจับตา จะเห็นได้ว่า…ไม่ว่าองค์กรเล็กหรือใหญ่ต่างก็เปิดรับสมัคร และองค์กรขนาดเล็กที่มีกำลัง โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพก็ลงสนามสู้เรื่องค่าตอบแทนทั้งสิ้น

5 สายงานที่ต้องการ

ประเภทธุรกิจและสายงานที่ “ประกาศรับงาน” มากสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ธุรกิจไอที สัดส่วน 11.3% มองหาคนสายงานไอที 19.1% ตามด้วยธุรกิจขายส่ง ค้าปลีก 10.8% หาคนสายงานขาย บริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 19% ธนาคาร การเงิน 8.4% หาคนสายงานวิศวกรรม 13.9% ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 8.1% หาคนสายงานการตลาดประชาสัมพันธ์ 11.4% และธุรกิจขนส่ง 8.1% หาคนสายงานบัญชี 9%

ส่วน 5 อันดับธุรกิจ และสายงานที่มี “สมัครงาน” มากสุด ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง ค้าปลีก ประเภทงานที่สมัครคือ งานขาย งานบริการลูกค้า และงานพัฒนาธุรกิจ 14.3% ตามด้วยธุรกิจขนส่ง ประเภทงานการตลาดประชาสัมพันธ์ 11.7% ธุรกิจไอที ประเภทงานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล 10.9% ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทงานวิศวกรรม 10.5% และธุรกิจการผลิต ประเภทงานไอที 5.7%

มนุษย์ไอทีได้เงินเพิ่ม

เหตุผลสำคัญ…มาจากบริษัทต่าง ๆ ในไทย ให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิคด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ขณะที่ประเทศกำลังก้าวไปสู่การเป็นประเทศดิจิทัลอย่างเต็มตัว ความต้องการทักษะแบบไฮบริด และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียังเป็นที่ต้องการ โดยปี 66 พนักงานที่ย้ายการทำงานใหม่และมีทักษะดิจิทัล พร้อมใช้หรือที่สามารถเริ่มงานได้เลย ไม่ต้องฝึกอบรมใหม่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากที่เดิมถึงประมาณ 15–30%

ขณะเดียวกันเด็กจบใหม่หรือผู้สมัครที่มีศักยภาพโดดเด่นอาจคาดหวังเงินเดือนปรับสูงขึ้นได้ถึง 15% ของการจ้างงานปกติ ในส่วนของพนักงานทั่วไปในบริษัท เงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 2-5% และ 10-15% สำหรับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ขณะที่กลุ่มพนักงานที่มีทักษะสูงที่ต้องการลาออกเพื่อเปลี่ยนสถานที่ทำงานหลายบริษัทได้ยื่นข้อเสนอสวนกลับ เพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้ ส่งผลให้ผู้สมัครมีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทที่ต้องการตัวก็เต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้น เพื่อแย่งชิงตัวมาให้ได้

ปี 66 แรงงานแข่งดุ

“การแข่งขันเพื่อแย่งชิงพนักงานทักษะสูงจะมีความดุเดือดมากขึ้นในปี 66 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี การขาย และการตลาดจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะความไม่สมดุลของตำแหน่งงานที่ว่างกับจำนวนพนักงานที่มีอยู่ในท้องตลาด เพราะกลุ่มพนักงานชาวต่างชาติได้เดินทางกลับประเทศไปในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการพนักงานสะสมมาตั้งแต่ปี 64 และ 65 เพิ่มขึ้น” ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าว

สิ่งสำคัญในเวลานี้…การรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทเป็นสิ่งที่นายจ้างให้ความสำคัญในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง โดยบริษัทส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนทักษะและความสามารถเฉพาะในกลุ่มธุรกิจของตน

ขณะเดียวกันการขาดแคลนนี้อยู่ในระดับตำแหน่งงานอาวุโส หัวหน้าทีมและระดับผู้จัดการ ทางโรเบิร์ตฯ สำรวจพบว่า 9 ใน 10 ของบริษัทกำลังเน้นเพิ่มทักษะของพนักงานภายในที่มีอยู่โดยส่วนใหญ่จะเน้นการฝึกอบรมภายในบริษัทมากกว่า 79% ของบริษัทมีกลยุทธ์ในการรักษาพนักงานไว้

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประเด็น…พนักงานให้ความสำคัญกับเป้าหมายงานที่ชัดเจน ความพึงพอใจในเนื้องาน และความยืดหยุ่นในการทำงาน โดยการไตร่ตรองมากขึ้นในการย้ายงานหลังยุคการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาพร้อมกับการให้ความสำคัญของคุณภาพชีวิตของครอบครัวและการเข้าสังคมพบปะเพื่อนฝูงเหนือการทำงาน พนักงานมองหาเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนขึ้นและได้ทำงานที่มีความพึงพอใจ รวมถึงความยืดหยุ่นในการทำงาน

Technology human touch background, modern remake of the creation of adam

ระวังโดน “เอไอ” แย่งงาน

ส่วนแรงงานที่มีทักษะระดับปานกลางไปจนถึงระดับต่ำ จะมีความเสี่ยงจากการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาทดแทนการทำงาน ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมมีการนำเอไอเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งงานประเภทคอลเซ็นเตอร์และพนักงานขายผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนมากขึ้น โดยทักษะสำคัญที่ต้องมีคือ ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านภาษาอังกฤษ ยิ่งหากใครมีความรู้ภาษาที่ 3 ยิ่งได้เปรียบมากขึ้น ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำ เพราะช่วยคิดวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน และคู่แข่งได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ “ซอฟต์สกิล” ที่องค์กรเริ่มนำมาใช้ตัดสินใจ เหมือนเป็นความได้เปรียบของมนุษย์ ที่เป็นจุดแข็งเดียวที่เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ โดยซอฟต์สกิลนี้เกี่ยวข้องกับ “อีคิว” หรือความฉลาดทางอารมณ์ การควบคุมหรือยับยั้งการแสดงออกได้เหมาะสมกับสถานการณ์ เข้าใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น รวมถึง “เอคิว” หรือความฉลาดในการแก้ไขปัญหา สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาพร้อมหาทางแก้ไข ควบคุมสถานการณ์และปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ดีเช่นเดียวกัน “ซีคิว” หรือความฉลาดการริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตนาการที่ยืดหยุ่น คอยปรับเปลี่ยนประยุกต์แนวคิด และชอบหาวิธีการใหม่ ๆ และ “เอสคิว” หรือความฉลาดทางสังคม สามารถที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เปรียบเทียบหรือมีความคิดที่กดคนอื่นให้ต่ำลง และเปิดใจยอมรับความแตกต่าง

คนแบบไหนที่ต้องการ

ขณะที่ “อเด็คโก้” ผู้นำด้านทรัพยากรบุคลากรครบวงจร  ย้ำว่า ทักษะเพิ่มเติมบางอย่างที่องค์กรต้องการ นอกจากการทำงานแล้วยังเป็นเรื่องของการให้คำปรึกษา หรือคนที่สามารถถ่ายทอดความรู้เฉพาะทางของตัวเองให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจได้ง่าย ไม่อิดออดหากต้องสอนงานคนอื่น จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่หลายบริษัทต้องการ โดยเฉพาะบริษัทสตาร์ทอัพ ที่ไม่ได้ต้องการคนจำนวนมาก แต่ต้องการคนเก่งที่พร้อมแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน

เช่นเดียวกับคนที่สนุกกับการหาความรู้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำหรือไม่เกี่ยวข้องก็ตาม ชอบอัพเดทความเป็นไปของโลก ความอินเทรนด์ของคนประเภทนี้ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจและเป็นตัวช่วยที่ดีของเพื่อนร่วมงาน เช่นเดียวกับผู้มีพลังบวกหรือคนที่สามารถช่วยกระตุ้นทีมให้กลับมามีกำลังใจอีกครั้ง

รวมถึงให้กำลังใจตัวเองได้ จึงกลายเป็นคนสำคัญที่ทุกทีมต้องการ ผู้กล้าที่จะคิดต่าง ทีมที่ทุกคนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุด!! เพราะทำให้ขาดมุมมองอื่นที่น่าสนใจ ซึ่งต้องนำเรื่อง “คิดต่าง” ให้ประสบความสำเร็จ โดยใช้เหตุผลโน้มน้าวมากกว่าใช้อารมณ์

ทั้งนี้ทั้งนั้น…เมื่อโลกเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน ธุรกิจมองเห็นถึงความคุ้มค่ามากที่สุดเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด!! ในภาวะสถานการณ์ความไม่แน่นอนสูง แรงงานทุกคนต้องเร่งปรับตัว “อัพสกิล-รีสกิล” อยู่เสมอ เพื่อให้เป็นที่ต้องการต่อไป.

…ทีมเศรษฐกิจ…