ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุทัย หนูวุ่น เกษตรอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ด้วย BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ ระดับอ.ครบุรี นำคณะลงพื้นที่ส่งเสริมการเพาะปลูกมันสำปะหลัง BCG Model ในพื้นที่ โดยทางคณะปฏิบัติการฯ ได้เลือกแนวคิดในการเพาะปลูกมันสำปะหลังของ นายจรัส ศรีพิทักษ์ อายุ 51 ปี เกษตรกรบ้านซับสะเดา หมู่ที่ 11 ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่นำมันสำปะหลังมาใช้ประโยชน์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ จะใช้กระบวนการส่งเสริมเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก มีการกำหนดขอบเขตในการดำเนินการอย่างชัดเจน ทั้งมิติพื้นที่ คน และสินค้า ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ บูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาคีระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นต้น ในส่วนของอำเภอครบุรี จ.นครราชสีมานั้น ได้เลือกเอา มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ มาดำเนินการ ซึ่งทางอำเภอได้เฟ้นหาเกษตรกรต้นแบบ ที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรมันสำปะหลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างนายจรัส ศรีพิทักษ์ มาเป็นต้นแบบเพื่อดำเนินการส่งเสริมต่อยอดให้ประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบของเกษตรกรอื่นๆต่อไป

ทั้งนี้ การจัดการมันสำปะหลังของ นายจรัส ศรีพิทักษ์ นั้น มีการนำมันสำปะหลังมาใช้ประโยชน์แทบทุกกระบวนการ เริ่มต้นจากการคัดท่อนมันเพื่อนำมาเพาะปลูกภายในแปลงของตนเอง ปลูกลงแปลงเอง เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยวก็นำเงินที่ได้มาลงทุนต่อยอดเตรียมการสร้างอาชีพเสริมโดยใช้ส่วนประกอบของทันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบหลัก ด้วยการนำกากมันสำปะหลังมาเพาะเชื้อเห็ดฟาง สร้างรายได้เสริมในช่วงที่รอการเก็บเกี่ยว เมื่อเห็ดฟางหมดรุ่นแล้ว ก็จะนำเชื้อเห็ดฟางที่เหลืออยู่ ไปใช้เป็นปุ๋ยให้มันสำปะหลัง เนื่องจากมีคุณสมบัติเสริมสร้างธาตุอาหารในดิน เพิ่มความร่วนซุยทำให้มันสำปะหลังลงหัวดีขึ้น ขณะที่เหง้ามันสำปะหลังที่เคยเหลือทิ้ง ก็จะถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการอบเห็ดฟางด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้ทรัพยากรจากมันสำปะหลังมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมถึงสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ซึ่งตรงตามหลักปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ด้วย BCG แบบบูรณาการ ภายใต้แนวทาง BCG Value Chain มันสำปะหลัง จ.นครราชสีมา โดยผลจากการทดลองดำเนินการของนายจรัส ศรีพิทักษ์ ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ผลผลิตมันสำปะหลังแม้ไม่มีระบบน้ำต่อไร่สูงถึง 7 ตันต่อไร่ จากค่าเฉลี่ยพื้นที่ที่จะอยู่เพียง 3-3.5 ตันต่อไร่ ขณะที่จะมีรายได้เสริมจากการเพาะเลี้ยงเห็ดปีละประมาณ 300,000 บาทด้วย.