ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก และดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี เป็นหนึ่งใน 10 เรื่องดาราศาสตร์เด่น น่าติดตามในปีนี้ โดยที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยทางเว็บไซต์ มัดรวมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญและเหตุการณ์ในแวดวงดาราศาสตร์แจ้งชวนร่วมสังเกต ติดตาม

ปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลก จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย โดยเวลาที่เหมาะสมสังเกตการณ์นับแต่เวลาหกโมงเย็นเป็นต้นไปของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ส่วน ดวงจันทร์เต็มดวง
ใกล้โลกที่สุดในรอบปี และเต็มดวงครั้งที่สองของเดือน
จะมีขึ้นวันที่ 31 สิงหาคม

นอกจากนี้มี ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ในเดือนมีนาคม โดยจะสังเกตการณ์ได้ช่วงหัวคํ่าทางทิศตะวันตก โดยดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ถือเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และนานทีจะสังเกตการณ์ได้ในประเทศไทยซึ่งหากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นดาวศุกร์ค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์และค่อย ๆ โผล่พ้นออกมาทั้งดวง เป็นต้น

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ปรากฏการณ์ที่เกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ และเป็นจังหวะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้สังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่ง หายไปในเงามืดแล้วโผล่กลับออกมาอีกครั้ง โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะคืนวันเพ็ญ 15 คํ่า หรือคืนวันดวงจันทร์เต็มดวง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และบางปีอาจมีได้มากถึง 5 ครั้ง และในปีนี้ จันทรุปราคาเงามัวจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สำหรับประเทศไทยสังเกตได้นับแต่สี่ทุ่มกว่าเป็นต้นไป

อีกทั้งมี ปรากฏการณ์ฝนดาวตก ติดตามการสำรวจระบบสุริยะของหลายประเทศ ติดตามการค้นพบใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ผลงานวิจัยของนักดาราศาสตร์ไทย และก้าวต่อไปของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ รวมถึงมิติใหม่กับ งานวิจัยโบราณดาราศาสตร์ ใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือช่วยศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ ฯลฯ

โบราณดาราศาสตร์ ศาสตร์แขนงนี้ชวนไปทำความรู้จักโดย อาจารย์อรพิน ริยาพร้าว ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณดาราศาสตร์ กลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์และมรดกดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความรู้ว่า โบราณดาราศาสตร์ (Archaeoastronomy) เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์แบบองค์รวม

นำความรู้ทางโบราณวิทยา และดาราศาสตร์มาบูรณาการร่วมกัน โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงดาราศาสตร์กับวิถีชีวิตของคนในอดีต สำหรับกลุ่มงานวิจัยฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นมรดกงานวิจัยที่สืบทอดต่อจาก รศ.สมัย ยอดอินทร์ พ่อครูต้นแบบแห่งการเรียนรู้แบบองค์รวม

“วิธีการศึกษาวิจัยด้านนี้ยังมีผู้ศึกษาจํานวนน้อยในประเทศไทย เราศึกษาโดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงดาราศาสตร์กับวิถีชีวิตของคนในอดีต ทั้งนี้วิถีชีวิต รวมทุกสหวิทยาการ ไม่ว่าจะเป็นในด้านความเชื่อ ประเพณี สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์”

ดาราศาสตร์มีความสัมพันธ์กับมนุษย์เรามายาวนาน ดาราศาสตร์ถูกนํามาใช้ในการวัดเวลา เครื่องหมายของฤดูกาล หรือการนําทางในมหาสมุทร ดาราศาสตร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สำคัญ ฯลฯ ในงานวิจัยด้านโบราณดาราศาสตร์เป็นการศึกษาระบบดาราศาสตร์สมัยโบราณ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยเกี่ยวข้องอย่างน้อยกับ 3 สาขาวิชาที่ศึกษาทางดาราศาสตร์ในสมัยโบราณ ได้แก่ ดาราศาสตร์โบราณคดี (Astroarchaeology) ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ (History of astronomy) และดาราศาสตร์ชาติพันธุ์ (Ethnoastronomy)

ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณดาราศาสตร์ กลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์และมรดกดาราศาสตร์ อาจารย์อรพิน ขยายความอธิบายพอสังเขปถึงการศึกษาดาราศาสตร์โบราณคดีเพิ่มอีกว่าเป็นระเบียบวิธีภาคสนาม เพื่อศึกษาการวางทิศของโบราณสถานและศาสนสถานต่าง ๆ ด้วยการวางทิศของศาสนสถาน การวางผังความเชื่อ ในแต่ละนิกายศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ไวษณพนิกาย ไศวนิกาย หรือพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ รวมถึงประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมามีความแตกต่างกัน ฯลฯ การศึกษาด้านนี้จะช่วยให้จําแนกที่มาได้

ขณะที่ ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ ให้ความสําคัญกับหลักฐานที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและเกี่ยวข้องกับความรู้ ภูมิปัญญาด้านดาราศาสตร์ รวมถึงปฏิทินของคนสมัยโบราณ ดังปรากฏในจารึก พับสา ใบลานต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนดาราศาสตร์ชาติพันธุ์ เป็นการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บนท้องฟ้าและพยายามตอบคําถามว่า “ทําไม” และ “อย่างไร” เชื่อมโยงกับความเชื่อ และประเพณี รวมถึงพิธีกรรมสําคัญ โดยแต่ละศาสนาจะมีพิธีกรรมสําคัญและวันที่กำหนดจัดพิธีกรรม เป็นต้น

ที่ผ่านมากลุ่มวิจัยฯ ศึกษาวิจัยโบราณดาราศาสตร์ เกี่ยวกับการวางทิศของศาสนสถานและโบราณสถานได้แก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ปราสาทพนมรุ้ง และปราสาทพิมาย โดยมีผลงานหนังสือ ผลงานวิจัยตีพิมพ์วารสารระดับนานาชาติ อีกทั้งตลอดระยะเวลาสิบปี วิชาโบราณดาราศาสตร์ยังได้เผยแพร่นําไปสอนในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเตรียมขยายสอนในโรงเรียนในภูมิภาคต่าง ๆ

ด้วยรายละเอียดของโบราณดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณดาราศาสตร์ อาจารย์อรพิน อธิบายเพิ่มถึงความเชื่อมโยงการศึกษาศาสตร์ดังกล่าวที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจุบันอีกว่า การเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในอดีต ทําให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและสามารถวางแผนวิธีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

“ในอดีตที่เรามีหลักฐานศาสนสถานและโบราณสถาน อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ส่งต่อมาถึงวันนี้ ด้วยเพราะคนโบราณมีภูมิปัญญาในการตรวจสอบฤดูกาล การใช้ดาราศาสตร์เพื่อคํานวณปฏิทินวางแผนการเกษตรกรรม โดยหากขาดภูมิปัญญาด้านนี้ไปคงยากจะรวมเป็นอาณาจักร ทั้งนี้คนในอดีตอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยให้ความเคารพ การย้อนกลับไปศึกษาจึงมีความสำคัญ ทั้งเป็นจุดหมายทบทวนการปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างถูกต้อง ทั้งส่งต่อการสืบสานรักษาโบราณสถาน ประเพณี และยังส่งต่อในด้านการท่องเที่ยว เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ”

อาจารย์อรพิน ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า โบราณสถานและศาสนสถาน เป็นเครื่องยืนยันว่า บรรพชนเรามีอารยธรรม มีความรู้ ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ควบคู่กับฝีมือที่สรรค์สร้างงานศิลปกรรม จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม อีกทั้งเรามีมรดกด้านวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมายาวนาน สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่บ่งบอกอัตลักษณ์ เกียรติประวัติ และเกียรติภูมิ การอนุรักษ์โบราณสถานและศาสนสถานจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน

การเริ่มต้นศึกษาโบราณดาราศาสตร์ สามารถเริ่มศึกษาได้จากศาสนสถานใกล้บ้านและน่าจะเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่สนใจและเล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญ เห็นการจัดวางทิศที่แฝงด้วยภูมิปัญญาด้านดาราศาสตร์ เชื่อมโยงและส่งต่อการเรียนรู้กับศาสตร์ความรู้อีกหลายสาขากว้างไกล โดยส่วนหนึ่งนี้บอกเล่าโบราณดาราศาสตร์

การศึกษาประวัติศาสตร์และมรดกทางดาราศาสตร์ นำความรู้ทางโบราณวิทยา และดาราศาสตร์บูรณาการร่วมกัน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ