เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีประชาชนต่อแถวลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ม.40 เพื่อขอสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นจำนวนมาก โดยพบหลายคนที่ยังคงสับสนว่า กลุ่มไหน อาชีพใดจะได้เงินเยียวยาบ้าง ไม่ได้บ้าง และปัญหาที่พบเงินไม่เข้า เนื่องจากไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชน
เงินเยียวยา 5,000 โอนแล้วนะ ใครมีแบงก์อะไรอยู่ รีบผูกบัญชีพร้อมเพย์..ที่นี่!
สำหรับประชาชนที่ผ่านการลงทะเบียนรับการเยียวยาและได้ทำการยืนยันตัวตนสำเร็จ แห่รอเข้าคิวกดเงินเยียวยาล็อกดาวน์ จำนวน 5,000 บาท จากผลกระทบโควิด-19 กันเต็มหน้าธนาคารกรุงไทย ในเขตเทศบาลเมืองเบตง หลังผ่านการลงทะเบียนรับการเยียวยา สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด และกลุ่ม 3 จังหวัด 9 อาชีพ เป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม “ผู้ประกันตน” ที่มีนายจ้าง อย่าง ม.33 กลุ่มผู้ประกันตนเอง ม.39 ม.40 และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับเงินเยียวยาแตกต่างกันออกไป ตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดและเริ่มโอนวันที่ 24 ส.ค. 64 วันนี้เป็นวันแรก ซึ่งการโอนเงินจะทำผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ที่ผูกเลขบัตรประจำตัวประชาชนแล้วเท่านั้น
โดยประชาชนได้นำบัญชีเงินฝาก มาอัพดูว่ามีเงินเข้าหรือไม่ เพื่อถอนเงินเยียวยา 5,000 บาท นำไปใช้ต่อลมหายใจให้ครอบครัว ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการ “ล็อกดาวน์” ทำให้บรรยากาศที่ธนาคารกรุงไทย สาขาเบตง มีประชาชนทยอยนำสมุดบัญชีเงินฝากมาอัพและเช็กยอดเงินเยียวยาผลกระทบโควิด-19 กันตั้งแต่เช้าอย่างต่อเนื่อง โดยเช้านี้หลายคนได้รับเงิน 5,000 บาท ส่วนมากลงทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 31 ก.ค. 64 และได้รับ SMS แจ้งมียอดเงินเข้า
จากการสอบถามประชาชนส่วนใหญ่จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าเช่าบ้าน ค่านมลูก และลงทุนค้าขายเล็กๆน้อยๆ เพื่อนำเงินมาต่อยอดเงินที่ได้รับ อีกทั้งยังกล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยต่อลมหายใจ ส่วนปัญหาที่พบบางรายมีสมุดบัญชี และบัตรเอทีเอ็ม แต่ไม่ได้ผูกเลขบัญชีกับระบบพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนและไม่เคยเคลื่อนไหวบัญชีเป็นเวลานาน ขณะที่บางรายนำสมุดบัญชี และบัตรเอทีเอ็ม มาผูกเลขบัญชีกับระบบพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนโดยไม่ขาดสาย
อย่างไรก็ตาม ทุกธนาคารได้เข้มงวดและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยการจำกัดคน มีการเว้นระยะห่างระหว่าง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในการติดต่อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส.