นางอารี พวงวรินทร์ ผอ.โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) ต.ทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่า ความปลอดภัยทางด้านอาหาร โดยเฉพาะพืชผักจะมีสารเคมีตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เราในฐานะผู้บริโภคคงทำได้เพียงล้างให้สะอาดก่อนรับประทาน หรือเลือกหาพืชผักที่ปลูกด้วยระบบอินทรีย์มารับประทาน แต่ก็มักพบกับปัญหา เนื่องจากมีราคาสูงกว่าพืชผักทั่วไป จึงได้ร่วมกับ นายประสงค์ พวงวรินทร์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารโรงเรียน นำคณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) ใช้พื้นที่ว่างเปล่าเปลี่ยนเป็นสวนพืชผักอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ไว้รับประทาน ภายใต้โครงการอาหารจานสุข ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสุขนิสัย และสร้างแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสู่ชุมชน

นางอารี กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่า “ผัก” ชื่อนี้คือคำที่น่ากลัวสำหรับเด็กๆ หลายคน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) นี้แน่นอน เพราะว่าพืชผักที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีระหว่างครู และนักเรียน ได้นำมารังสรรค์ให้เกิดเมนูใหม่ๆ ที่เด็กๆ ช่วยกันคิดค้นจากพืชผักเป็นเมนูต่างๆ เป็นอาหารจานสุข อาหารแปรรูป จานสุขพืชผักแปลงร่าง ทั้งนี้โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ)ได้นำโปรแกรม Thai School Lunch มาใช้ในการบริหารจัดการโครงการอาหารตามหลักโภชนาการ นักเรียนได้บริโภคอาหาร และได้รับสารอาหารทั้ง 5 หมู่ ครบถ้วน นักเรียนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สมสวนตามวัย ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูงได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) ได้รับรางวัลอาหารกลางวันต้นแบบ (Best of the Best) ระดับประเทศ รางวัลนักเรียนไทยสุขภาพดี (Best of the Best) ระดับประเทศ รางวัลสหกรณ์ดีเด่นยอดเยี่ยม (Best of the Best) และรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานฯ โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ระดับประเทศ โดยทางโรงเรียนจะไม่หยุดนิ่งพร้อมนำโครงการต่างๆ ที่เคยได้รับรางวัล นำมาพัฒนาต่อยอดให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป
นายประสงค์ กล่าวว่า ความสุขของวัยเรียน นอกจากการเรียน และการเล่นแล้วใครจะเชื่อว่าความสุขของนักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) คือการเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ แบบปลอดสารพิษ ซึ่งทางโรงเรียนได้สอนเป็นวิชาเสริม เพื่อให้นักเรียนได้นำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง โดยนางอารี พวงวรินทร์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ได้ร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู นักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) ได้ดำเนินการโครงการอาหารกลางวัน แบบครบวงจรมีการเลี้ยงไก่ไข่ เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืชผักผลไม้ พืชผักสวนครัวในโรงเรียน โดยให้นักเรียนได้ยืมเงินจากสหกรณ์โรงเรียนไปลงทุน เมื่อได้ผลผลิต ก็นำส่งขายให้สหกรณ์โรงเรียน เพื่อส่งขายต่อให้กับโรงอาหารในการรับซื้อวัตถุดิบนำมาประกอบอาหาร

หากผลผลิตภายในโรงเรียนมีไม่พอเพียงต่อความต้องการ ทางสหกรณ์โรงเรียนก็จะรับซื้อวัตถุดิบจากชุมชน และนำมาจำหน่ายให้กับโรงอาหาร เพื่อนำไปประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนต่อไปอีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสุขนิสัย และแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยสู่ชุมชน นอกจากเป็นการลดรายจ่ายไม่ต้องซื้อผักจากตลาดแล้ว ยังมีเป้าหมายหลักคือการสร้างความปลอดภัยด้านอาหารทั้งระบบ จากจุดเริ่มที่โรงเรียน ขยายไปสู่หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้ค่อยๆ เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างการรับรู้ให้เกิดกับเด็ก และผู้ใหญ่ ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ค่านิยมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกวัย
น.ส.ยุพา กิจสิงเสริมกุล ครูด้านโภชนาการโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) กล่าวว่า ผลผลิตจากพืชผักที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีระหว่างครู และนักเรียน ส่งผลทำให้เกิดผลผลิตที่ดี และมีจำนวนมาก พอที่จะนำมารังสรรค์ให้เกิดเมนูใหม่ๆ และที่สำคัญขึ้นชื่อว่า “ผัก” ชื่อนี้คือคำที่น่ากลัวสำหรับเด็กๆ หลายคน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับโรงเรียนโรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) นี้แน่นอน นักเรียนจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ที่ปรุงมาจากพืชผักที่นักเรียนลงมือปลูก รดน้ำพรวนดิน และได้กินพืชผักที่ปลูกขึ้นเอง สร้างสุขนิสัยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่เล็กๆ ในขณะเดียวกันจะได้ชักชวนให้ผู้ปกครอง คนในหมู่บ้านหันมาปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน

ส่วนพืชผักที่นำมาแปรรูป และพืชผักที่นำมาแปลงร่างเป็นอาหารจานเด็ดให้นักเรียนได้รับประทานกัน ได้แก่ ข้าวเกรียบเห็ดนางฟ้า คะน้าเทมปุระ แยมมะเขือเทศ ส้มตำต้นอ่อนทานตะวัน แตงโม แก้วมังกร ฯลฯ อีกมากมาย ส่งผลให้องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) นำคณะผู้แทนรัฐบาลกัมพูชา พร้อมด้วยผู้แทนรัฐบาลเกาหลี มาศึกษาดูงานโครงการอาหารกลางวัน ตามโปรแกรม Thai school lunch โรงเรียนวัดทุ่งคอก (สุวรรณสาธุกิจ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และนำความรู้ทางวิชาการในเชิงลึก เกี่ยวกับการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน นำเป็นแบบอย่างในการปรับพัฒนาการเรียน การสอน สร้างความเข้มแข็งให้กับโครงการอาหารกลางวันของประเทศต่างๆ ในโลก ตามความเหมาะสมต่อไป