เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหารือโครงการ Thai-German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC-EMC) ร่วมกับ นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Dr. Dominika Kalinowska รักษาการผู้อำนวยการโครงการ TGC-EMC จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (German International Cooperation: GIZ) โดยมี ว่าที่ร้อยตรี วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม

สำหรับการประชุมหารือเป็นการแนะนำโครงการ TGC-EMC และความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรลุเป้ากรุงเทพมหานครก้าวเข้าสู่เมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1. พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะการติดตั้ง Solar rooftop ในหน่วยงานของ กทม. เช่น อาคาร สวนสาธารณะ และที่จอดรถสาธารณะ การศึกษาเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 2. ด้านการขนส่ง เพื่อให้เป็นไปตามแผนแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564-2573 โดยจะสนับสนุนการขนส่งด้วยการใช้ Feeder สำหรับให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้าเส้นทางหลัก การปรับปรุงยานพาหนะ รวมถึงการศึกษาการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับด้านที่ 3 คือ ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตามแผนของกรุงเทพมหานครเน้นการประหยัดพลังงาน ด้วยการเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED การปรับปรุงระบบทำความเย็นหรือ Boiler โดยจะได้มีการหารือตั้งคณะทำงานฯ เพื่อทำงานร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ โครงการ Thai German Cooperation on Energy, Mobility, and Climate (TGC-EMC) เป็นโครงการที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry for Economic Affairs and Climate Action: BMWK ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน International Climate Initiative: K) ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (German International Cooperation: GIZ) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.