เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่สำนักงาน กกต.จ.เชียงใหม่ กลุ่มคนเชียงใหม่ 15-20 คน ได้มายื่นหนังสือในนามตัวแทนประชาชนที่จงรักภักดีต่อระบอบสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อร้องต่อ ผอ.กกต. เชียงใหม่ ให้ตรวจสอบนโยบายของพรรคก้าวไกล ว่า เข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากอ้างว่า พรรคก้าวไกล ชูประเด็นเรื่องแก้ ม.112 กกต.ควรดูกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคได้ เพราะการนำมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงอาจทำได้ แต่ต้องไปดูกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตรงนี้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคได้ ต่อมา เจ้าหน้าที่ กกต.เชียงใหม่ ได้เข้ามารับหนังสือก่อนส่งเรื่องถึง ผอ.กกต.เชียงใหม่ และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ด้านตัวแทนที่ยื่นหนังสือ ให้ข้อมูลว่า อยากให้ตรวจสอบว่าการชูประเด็นดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเพียงกฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติ ชั้นลำดับศักดิ์กฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อห้ามแก้ไขตามมาตรา 255 ดังนั้น นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญ
พรบ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 20 พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้ แม้นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่คาบเกี่ยวกับการกระทำและพฤติการณ์ “ล้มล้างการปกครอง” หรือ “ปฏิปักษ์การปกครอง” เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ตามมาตรา 92 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
โดย สาระสำคัญการแก้ไข มา 112 ของพรรคก้าวไกล เป็นการย้ายความผิดฐาน มาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ลดอัตราโทษลงอย่างมาก ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับแทนการจำคุก เพื่อให้ได้สัดส่วนกับความผิด ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 1 ปี หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์) ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องคดีนี้ได้ โดย แก้ไข้ให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ รวมถึงกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
บทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ โดยยกเว้นความผิด หากเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ และยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน